โหลดหนังสืออ่านฟรีบนรถไฟฟ้าใต้ดิน แคมเปญช่วยชีวิตห้องสมุดในนิวยอร์ค

คุณไปห้องสมุดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? อย่าว่าแต่ห้องสมุดเลย แม้แต่ร้านหนังสือก็ยังอยู่ยากขึ้นทุกวัน ในยุคที่สมาร์ทโฟนครองโลกและเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง การจะดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ จึงเป็นเรื่องง่าย จนสื่อเก่าๆ กลายเป็นซากฟอสซิลไปเลย ทั้งที่สื่อเหล่านี้ยังคงความคลาสสิคและมีเสน่ห์โดยไม่ได้ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อย่างหนังสือนี่เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว นักอ่านจำนวนไม่น้อยหันไปอ่านหนังสือบนหน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเลทกันมากขึ้น

ถึงกระนั้น หนังสือก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยากจะมีสิ่งใดมาทดแทน ทั้งความเป็นรูปเล่มที่จับต้องได้ กระทั่งกลิ่นอายของกระดาษที่ให้สุนทรียะในการอ่าน และได้อรรถรสกว่าการอ่านจากหน้าจอเป็นไหนๆ และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดโปรเจ๊กต์เจ๋งๆ อย่าง The Underground Library ของนักศึกษาชาวนิวยอร์ค ที่เห็นช่องว่างของนักอ่านชาวสมาร์ทโฟนในระหว่างการเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินของนิวยอร์คที่ไม่มีสัญญาณ WiFi  พวกเขาจึงสร้างภาพเสมือนเป็นชั้นหนังสือวางเรียงรายคล้ายอยู่ในห้องสมุด ทั้งบริเวณฝาผนังและพื้นที่ว่างเหนือที่นั่งซึ่งดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของสมาร์ทโฟนที่เรียกว่า Near-Field Communication (NFC) ทำให้ผู้โดยสารสามารถโหลดหนังสือที่ตนสนใจมาลองอ่านได้ฟรี 10 หน้า แถมยังบอกพิกัดของหนังสือเหล่านี้ว่าอยู่ห้องสมุดแห่งใดบ้างในบริเวณใกล้เคียง ถือเป็นกลยุทย์ยั่วน้ำลายให้คนอ่านติดใจแล้วไปตามหาหนังสืออ่านต่อ โดยเป้าหมายสำคัญคือต้องการกระตุ้นให้ชาวนิวยอร์คหันกลับมาใช้บริการของ New York Public Library ที่มีอยู่หลายสาขาในเมืองให้มากขึ้น ดีกว่าจะจะมัวจมจ่อมอยู่กับตัวหนังสือในหน้าจอโทรศัพท์เท่านั้น ในขณะเดียวกันจะได้มีกิจกรรมสนุกๆ ทำในขณะที่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปด้วย

ถึงที่สุดแล้วโปรเจ็กต์นี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนนิวยอร์คได้ หรือเพิ่มจำนวนให้คนเดินเข้ามาในห้องสมุด บวกกับภาวะติดการใช้สมาร์ทโฟนกันงอมแงม แต่ก็นับว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์ให้คนหันมาพกหนังสืออ่านได้อย่างน่าสนใจท่ามกลางกระแสนิยมของการอ่านออนไลน์ และยังเป็นแนวทางให้กับบ้านเราได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการรณรงค์การอ่านหนังสือให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแอจนน่าตกใจ

[vimeo url=”http://vimeo.com/61258052″ width=”600″ height=”350″]

 

อ้างอิง : treehuger,