USW Niamey: เปลี่ยนขยะให้เป็นสนามเด็กเล่นเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน


ปัจจุบันนี้ เรามีโอกาสได้เห็นการนำขยะและสิ่งเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และโปรเจ็กต์ดีๆ เพื่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ และหลายครั้งเราก็เห็นคนในแวดวงออกแบบนี่แหละที่เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญ โดยหยิบเอาทั้งความรู้ความชำนาญที่มีมาพัฒนาและต่อยอดจนได้งานที่สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แถมยังสวยงามดูไม่รกหูรกตาอีกต่างหาก

Basurama  (Basura แปลว่า ขยะ ในภาษาสเปน) คือหนึ่งในกลุ่มสถาปนิกที่ทำงานกับขยะมาโดยตลอด ด้วยความสนใจร่วมกันของสมาชิกนั่นคือ การนำขยะเหลือใช้มาเป็นต้นทุนในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์โครงการออกแบบและศิลปะที่ช่วยกระตุ้นจิตสำนึก เลยไปจนถึงการสร้างพื้นที่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนนั้นๆ ให้ดีขึ้น การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมทั้งต่อตัววัตถุดิบที่เป็นขยะ วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น กลุ่มคน และพื้นที่ถูกนำไปใช้เป็นแก่นความคิดในการทำงานของพวกเขา ผ่านหลายๆ โครงการ อาทิ Ghost Train Park ที่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่รางรถไฟเก่าในเปรูให้เป็นสวนสนุกแห่งใหม่ หรืองาน Plastic Bang! Kok ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นที่เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและการรับรู้ต่อขยะที่ต่างออกไป รวมทั้ง USW Niamey โครงการนี้ด้วยซึ่งเป็นโครงการที่มีไซต์อยู่ที่ไนจีเรีย โดยทีมงานทั้ง 9 ชีวิตของ Basurama เชิญชวนให้คนในพื้นที่และเด็กๆ มาร่วมสร้างสนามเด็กเล่นจากขยะและสิ่งเหลือใช้ในชุมชน อาสาสมัครกว่า 50 ชีวิตจากศูนย์วัฒนธรรมในไนจีเรีย 12 แห่ง ตบเท้าเข้าร่วมในโครงการนี้และช่วยกันทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้งหมดใช้เวลา 8 วัน ในการทำเวิร์คช็อปเพื่อเรียนรู้การทำงานร่วมกับวัสดุชนิดต่างๆ ในหลากหลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและทำให้สิ่งที่พวกเขาสร้างสามารถนำไปใช้งานได้จริงด้วย

จากยางเก่าๆ ถุงขยะ กล่อง กระป๋อง และสิ่งของตามท้องถนนถูกนำมาสร้างให้เกิดคุณค่าขึ้นใหม่ โดยประกอบร่างเข้าด้วยกันเป็นเครื่องเล่นชนิดต่างๆ ที่ช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการและความแข็งแรงด้านร่างกายให้เด็กๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางที่คนในชุมชนสามารถมาพักผ่อน พูดคุย และมีกิจกรรมร่วมกันได้จากพื้นที่ที่ไร้ประโยชน์ วัสดุที่ไร้ราคาและถูกมองข้าม เมื่อมีการนำมาตีความให้ต่างออกไปด้วยการปรับมุมมองสิ่งเหล่านี้เสียใหม่ ก็ทำให้สิ่งไร้ค่ากลายร่างไปเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบ USW Niamey นำความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างมาสู่คนในชุมชน ทั้งทัศนคติในการหันมามองสิ่งรอบตัวและสร้างมูลค่าจากมัน และแน่นอนเลย คือ การมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชนซึ่งทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และการแรงบันดาลใจชั้นดีที่อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

ทีมงาน Basurama และคนในชุมชน 
อ้างอิง: Basurama