Youth Speak Collective เปลี่ยนชุมชนคนร้ายให้เป็นชุมชนคนดี


‘เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า’ วลีคลาสสิกที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคก็ยังทำให้เราเห็นได้ถึงความสำคัญของเยาวชนในชาติ ฟันเฟืองสำคัญที่จะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญได้หากพวกเขาได้รับการปลูกฝังและสั่งสอนด้วยความเข้าใจและเอาใส่ใจ ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นหลักขององค์กรอย่าง Youth Speak Collective ขึ้นที่ Pacoima แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2005 โดย David Andrés Kietzman และ Whitney Kasserman ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้ชุมชนซึ่งเต็มไปด้วยอาชญากรรมและมีรายได้น้อยที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาแห่งนี้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและน่าอยู่ขึ้น โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมจากเมล็ดพันธ์ุเล็กๆ อย่างเยาวชนโดยมีเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน

จากเงินตั้งต้นศูนย์ดอลล่าร์กับเยาวชนและผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ที่มาพบปะกันทุกสุดสัปดาห์เพื่อพูดคุยและค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่คนสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน ต้องการจริงๆ แต่ด้วยความตั้งใจของทีมงานทั้งหมด ทำให้ปัจจุบัน Youth Speak Collective ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนทั้งจากองค์กรรัฐและเอกชน ไปจนถึงคนทั่วไป ที่สำคัญคือการที่เด็กๆ ในชุมชนเสนอตัวที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการช่วยขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปด้วยกัน จนเกิดเป็นโครงการต่างๆ ตั้งแต่ Youth Council ที่เชิญชวนให้เยาวชนใน Pacoima มารวมตัวกันทุกสุดสัปดาห์เพื่อทำกิจกรรม การเป็นอาสาสมัคร การเรียนรู้ทางสายอาชีพ และการบริการด้านสังคม โครงการ Creative Expression Program ที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้และแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์โดยจะมีการจัดห้องเรียนเพื่อสอนงานออกแบบทั้งกราฟิก กราฟิตี้ ถ่ายภาพ และงานศิลปะ โครงการ Project Youth Green ที่ทุกคนสามารถเพลิดเพลินไปกับการปลูกพืชบนเนื้อที่ 4 เอเคอร์ภายในโครงการ โดยมีการให้ความรู้ในการปลูกควบคู่กันไปด้วย โครงการ Academic Support Service ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเยาวชนในเรื่องวิชาการ โดยมีการเปิดห้องเรียนสำหรับการให้ความรู้ การให้คำปรึกษาด้านการศึกษา ตลอดจนการเข้าฝึกงานในองค์กรต่างๆ ไปจนถึง การจัดตั้งลีกฟุตบอลชื่อ Futbolita Pacoima ที่เชิญชวนให้เยาวชนอายุ 13-18 ปี เข้ามาร่วมแข่งขันในทุกๆ วันเสาร์อาทิตย์ด้วย

กว่า 5 ปี ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่าน Youth Speak Collective ทำให้เด็กๆ มีโอกาสที่ดีขึ้นทั้งในเชิงการศึกษาและการเข้าสังคม แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยในบ้านและสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ผู้คนในชุมชนหันหน้าเข้ามาคุยกันมากขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เขาสามารถพึ่งพาและเป็นที่พึงพิงให้กับคนอื่นๆ ได้ด้วย นี่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่ Youth Speak Collective พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ไม่ว่าสังคมจะเคยแย่ขนาดไหนก็ตามเพียงแค่รับฟัง ให้โอกาส และเข้าใจพวกเขาเท่านั้นเอง

อ้างอิง: Youth Speak Collective