เปลี่ยนโลกด้วยระยะ 2 เซ็นติเมตร..กับดินสอ 2CM+  

1

ตั้งแต่เด็กจนโต มีใครเคยใช้ดินสอจนหมดจดบ้างไหม? ไม่น่าจะมีนะ เพราะว่าพอมันสั้นจนจับไม่อยู่เราก็โยนทิ้ง ไม่มีใครเคยคิดว่าดินสอกุดๆ ที่ลงเอยในถังขยะจะมีผลอะไรต่อชีวิต เว้นแต่ดีไซเนอร์ผู้ช่างสังเกตที่ไม่อาจมองข้ามเรื่องนี้ไปได้

Grey Ray เกรย์เรย์ แบรนด์เครื่องเขียนของ ชาญฉลาด กาญจนวงศ์ ที่หลายๆ คนอาจเคยรู้จักจากผลงาน EE Defender ปลอกปกป้องปลายดินสอ EE ของรักนักวาดเขียน ซึ่งได้รับรางวัล Design Excellence Award (DEmark) และ Good Design Award (G-mark) จากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการค้นคว้าแบบมนุษย์ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ งานนี้ก็เช่นกัน ทีมดีไซเนอร์ของเกรย์เรย์ทุ่มความสนใจไปยังดินสอที่ถูกทิ้ง แต่จริงๆ ยังมีไส้ดินสอที่ใช้ได้อยู่ ว่าจะทำอย่างไรให้ดินสอถูกใช้อย่างหมดจด ความสำคัญของงานนี้ต้องย้อนไปถึงต้นกำเนิดของดินสอ ซึ่งผลิตจากไม้ซีดาร์เนื้ออ่อนเหลาง่าย กับกราไฟต์ แร่ธรรมชาติที่ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากจากการทำเหมือง แต่ทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 2 กลับถูกทิ้งขว้างอย่างไม่คุ้มค่า เกรย์เรย์พบว่าระยะสั้นที่สุดที่คนจะจับดินสอเขียนได้คือ 2 ซม. จึงคิดออกแบบระบบการผลิตดินสอใหม่ คือลดไส้ลงไป 2 ซม. ให้ไส้ดินสอไม่เต็มแท่ง เพื่อให้คนใช้ไส้กราไฟท์ได้หมดเกลี้ยงจริงๆ เพราะแร่กราไฟท์นั้นนอกจากจะนำมาใช้ทำไส้ดินสอแล้วยังนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย และแน่นอนว่าดินสอในท้องตลาดปัจจุบันนั้นมีแต่ดินสอไส้เต็มที่ไม่ได้คำนึงถึง 2 ซม.ที่ปลายดินสอว่าเป็นแร่กราไฟท์ที่สูญเปล่า ไม่ได้รับการใช้งานใดๆ

วิธีการแก้ปัญหานั้นแสนจะง่าย แต่กลับไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน แม้แต่โรงงานทำดินสอที่รู้ดีว่าต้องมีเศษเหลือทิ้ง ก็ไม่ได้ทำ เพียงเพราะว่าไม่มีคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนระบบการผลิต ก็อาศัยเกรย์เรย์นี่แหละที่เกเรจนได้เรื่อง ทำเรื่องเล็กๆ แบบนี้เพื่อสร้างผลกระทบในระดับมหภาคอย่างการลดขยะและประหยัดทรัพยากรโลก เป็นไงล่ะ? การเปลี่ยนโลกมันไม่ใช่เรื่องยาก อาศัยความใส่ใจและการเปลี่ยนมุมคิดเป็นสำคัญจริงๆ

2cm+ 02cm+_1 2cm+_2 2cm+_3 2cm+_4 2cm+_5 finalpic

อ้างอิง: 2CM+