กายอุปกรณ์เท้าราคาเบาๆ ของเล่นใหม่สำหรับเด็กเท้าปุก

‘โรคเท้าปุก’ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Clubfoot เป็นความผิดรูปของเท้าแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง สามารถพบโรคนี้ได้ประมาณ 1 ใน 750 ของเด็กคลอดใหม่ เท้าปุกส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ โดยการดัดเท้าและเข้าเฝือกในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากหายแล้ว เด็กที่เคยมีเท้าปุกอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ ดังนั้นหลังสิ้นสุดการเข้าเฝือก เด็กจะต้องใส่กายอุปกรณ์เท้าต่ออีกประมาณ 2 เดือนจนถึง 5 ปี

แต่ปัญหาก็คือ อุปกรณ์ดังกล่าวนั้นมีราคาค่อนข้างแพง (ประมาณ 9,000 – 25,000 บาท) และใช้งานยาก ส่งผลให้เด็กจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงและได้รับการรักษาอย่างที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด Jeff Yang และ Ian Connolly ร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไร Miraclefeet, รองเท้า Clarks และบริษัท Suncast  ร่วมมือกันพัฒนากายอุปกรณ์เท้าสีสันสดใสเหมือนของเล่นเด็ก แถมราคาก็ถูกลงเป็นกอง เพียงแค่ชิ้นละ 600 บาทเท่านั้น ผลิตจากพลาสติกน้ำหนักเบา ดีไซน์ดึงดูดใจ เด็กสามารถใส่อุปกรณ์เดินได้เองอย่างคล่องแคล่ว สวมใส่สบาย อีกทั้งรองเท้าก็สามารถถอดออกได้ ช่วยให้สวมใส่และถอดอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

พวกเขาได้นำกายอุปกรณ์นี้ไปทดลองใช้กับเด็กที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล โดยพูดคุยกับทีมแพทย์ ผู้ปกครอง และเด็กๆ เกี่ยวกับความต้องการ รวมถึงข้อดีและข้อเสียของอุปกรณ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งขณะนี้กายอุปกรณ์เท้าจำนวน 200 ชิ้นถูกผลิตขึ้นและนำไปทดลองใช้กับเด็กเท้าปุกใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย, บราซิล, แอฟริกาใต้, นิการากัว และอเมริกา และคาดว่าภายในปี 2015 จะถูกผลิตเพื่อใช้ทั่วโลกประมาณ 15,000 ชิ้น

อ้างอิง : MiracleFeet, Reuter