‘Foldscope’ กล้องจุลทรรศน์พับได้ ราคาไม่ถึง 32 บาท!! จริงดิ?

ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้คนส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหากับโรคระบาด อาทิ โรคมาลาเรีย สืบเนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งผลให้การวินิจฉัยสาเหตุของโรคเป็นไปอย่างยากลำบากและล่าช้า ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ใช้ในการค้นหาสาเหตุของอาการป่วยก็คือ การใช้กล้องจุลทรรศน์ ในการวินิจฉัย วิเคราะห์เชื้อโรคต่างๆ แต่ปัญหาก็คือกล้องจุลทรรศน์นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาแต่แรกเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในงานภาคสนาม ทำให้มันมีขนาดใหญ่  ดูแลรักษาลำบาก ทั้งยังราคาแพงอีกด้วย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด นำทีมโดย Manu Prakash เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกันพัฒนากล้องจุลทรรศน์ที่มีชื่อว่า ‘Foldscope’ ที่เป็นกล้องทำจากกระดาษ พกพาสะดวก ใช้งานง่ายในราคาที่แสนถูก คือไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯ (ไม่ถึง 32 บาท) โดยนำหลักการของออริกามิหรือศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นมาใช้ในการประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดของกล้อง บนกระดาษจะมีตัวเลขและรูปภาพแสดงวิธีการประกอบ ซึ่งใช้เวลาประกอบเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น โดยมาพร้อมเลนส์ให้กำลังขยายสูงสุดถึง 2,000 เท่า แบตเตอรี่ขนาดเล็กที่ใช้กับ LED ได้นาน 50 ชั่วโมง ระบบสำหรับการส่องดูแบบฟลูออเรสเซนต์ แบบพื้นหลังสว่าง แบบโพลาไรเซชั่น และมีระบบฉายภาพเทียบเท่ากับคุณสมบัติของกล้องจุลทรรศน์มืออาชีพ อีกทั้งยังทนทานและกันน้ำได้อีกด้วย

หลังจากที่ทางทีมงานได้เปิดรับการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบการใช้งานกล้องดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ Foldscope ก็มีผู้ที่สนใจจาก 130 ประเทศทั่วโลกลงทะเบียนขอรับกล้องไปทดลองใช้งาน นับว่าเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วในการวินิจฉัย และจัดการกับโรคต่างๆ ให้กับผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคต่างๆแก่ผู้คนด้วย

อ้างอิง : FoldscopeTedBusinessWeek