เปลี่ยนเรือยาง&เสื้อชูชีพเป็นเป้ใบเขื่อง อัพไซเคิลดีไซน์จากฝีมือผู้อพยพ

67

ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ไม่ใคร่จะสงบสุขนัก เราคงเคยได้ยินข่าวเรื่องผู้อพยพตะวันออกกลางที่ดิ้นรนเสี่ยงชีวิตข้ามน้ำข้ามทะเลมุ่งหน้าสู่แผ่นดินที่มีความหวังกว่าในทวีปยุโรป ซึ่งหนึ่งในผืนดินแรกๆ (ของยุโรป) ที่ผู้อพยพเหล่านี้ก้าวมาถึงก็คือบรรดาเกาะเล็กเกาะน้อยของประเทศกรีซ และแน่นอนว่าด้วยจำนวนผู้อพยพเรือนหมื่นเรือนแสนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ศูนย์อพยพและชุมชนบนเกาะต่างๆ ของกรีซก็กำลังประสบปัญหาหนัก ไม่ว่าจะในแง่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือการดูแลสภาพแวดล้อมของชายหาดที่ยากต่อการจัดการอย่างทั่วถึง

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่าบนหาดความยาวหลายกิโลของเกาะ ‘เลสบอส’ (เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของกรีซ) พบซากขยะ ‘เรือยาง’ และ ‘เสื้อชูชีพ’ เก่าที่ถูกโยนทิ้งไว้มากมายเป็นกองพะเนิน เป็นเหตุให้อาสาสมัครชาวดัชท์ Floor Nagler ปิ๊งไอเดียอยากทำอะไรสักอย่างกับซากขยะเหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวชาวอพยพก่อนจะออกเดินทางต่อไปในวันข้างหน้าด้วย

Nagler ในฐานะนักออกแบบสิ่งทอ ได้นำตัวอย่างวัสดุจากซากเรือยางและเสื้อชูชีพนี้กลับไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม (ประเทศเนเธอร์แลนด์) เพื่อทำงานร่วมกับ Didi Aaslund เพื่อนศิลปินของเธอในการรังสรรค์ ‘ขยะวัสดุ’ ให้กลับมาเป็น ‘ของใช้มีค่า’ อีกครั้งสำหรับผู้อพยพ …และคำตอบที่ทั้งคู่ได้รับก็คือ ‘กระเป๋าเป้อัพไซเคิล’ ที่สามารถผลิตขึ้นเองง่ายๆ ด้วยเครื่องมือพื้นฐานเพียงไม่กี่ชิ้น และด้วยต้นทุนที่ถูกแสนถูกเพียง 3 ดอลล่าร์ต่อใบ

เมื่อดีไซน์กระเป๋าเป้จนเป็นที่พอใจแล้ว Nagler และ Aaslund ก็กลับไปที่เกาะเลสบอส เธอเริ่มสอนกลุ่มผู้อพยพ (ที่ศูนย์ช่วยเหลือบนเกาะ) ให้ช่วยกันนำซากขยะเรือยางและชูชีพมาตัดแต่งเป็นชิ้นวัสดุ และลองเย็บเข้าด้วยกันใหม่ให้เป็น ‘เป้ใบเขื่อง’ ด้วยเทคนิคง่ายๆ อย่างการตอกหมุด ดีไซน์ของเป้นี้อาศัยการพับแผ่นวัสดุเพียงท่อนเดียว เย็บตะเข็บด้วยหมุดย้ำที่แข็งแรงทนทาน และล็อคปิดง่ายๆ ด้วยหัวเข็มขัดที่ถอดมาได้จากเสื้อชูชีพ ที่สำคัญที่สุดกระบวนการอัพไซเคิลทั้งหมดนี้ ‘ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าแม้แต่นิดเดียว’

แม้จะเป็นโครงงานกิจกรรมเล็กๆ ที่อาศัยแค่แรงงานผู้อพยพ แต่ก็ถือเป็นไอเดียที่ฉลาด สร้างประโยชน์สองต่อ และในขณะเดียวกันก็ทำให้เหล่าผู้อพยพมีทักษะการผลิตของใช้จำเป็นในยามฉุกเฉินได้ด้วย ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการกุศล Oddysea ในกรีซ มุ่งเป้าที่จะนำซากขยะทั้งหมดจากการอพยพมา ‘รีดีไซน์ใหม่’ เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ และจะนำรายได้จากการขายกลับไปหมุนเวียนช่วยเหลือศูนย์อพยพตามเกาะต่างๆ ให้มากที่สุด

[youtube url=”http://youtu.be/tbIyB_SXtFY” width=”600″ height=”350″]

p1290240p1340038AEC17011-0D53-4B0B-84A9-F0A0709478E8_w1000_sC839E1EF-A6A1-46A1-9951-3B082B7EBC65_w900_sp1340272 74F42BE4-B2FF-4421-9E81-63E4F48E9CE9_w900_s019A32C6-331B-4356-846E-275618D69CB2_w600_r0_sp1340045507A1252-8CD6-4A19-B457-555D98300CA6_w1000_s

อ้างอิง:  The UN Refugee Agency, Tech Insider, Redio Free Europe Radio Liberty