เครื่องซักผ้าพลังเท้าผลงานนักศึกษาเพื่อชุมชนที่โลกลืมในเปรู

หลายคนต่างเฝ้ารอว่า iPhone รุ่นใหม่ล่าสุดจะออกมาเมื่อไหร่ ในขณะที่ประชากร 1/3 ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำไมนักออกแบบที่เก่งกาจชาญฉลาดเหล่านี้ ไม่ร่วมมือร่วมใจกันคิดค้นควานหารูปแบบการผลิตพลังงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะนั่นคือหนึ่งปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หนึ่งแนวทางในการปลูกจิตสำนึกให้นักออกแบบตระหนักถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก็คือการสร้างให้เขาเหล่านั้นเป็นเมล็ดพันธ์ุชั้นยอดตั้งแต่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และนี่คือหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการจาก Art Center College of Design จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผุดโครงการให้นักศึกษาทำการพัฒนางานออกแบบสำหรับประเทศด้อยพัฒนา และตัวอย่างที่นำมาให้ดูนี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชนที่ถูกลืมในเมืองลิมา ประเทศเปรู ชุมชนที่ไม่มีแม้แต่ระบบสาธารณูปโภค ไม่มีน้ำตามท่อส่งตรงถึงบ้าน และไม่มีไฟฟ้าใช้ Team Peru คือกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปในพื้นที่เพื่อให้เขาเหล่านั้นใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกกับหัวใจที่เป็นมิตรคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนดีขึ้น

หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจที่หยิบยกมาให้ดูก็คืองานออกแบบเครื่องซักผ้าพลังเท้า (GiraDora) ที่ถูกออกแบบให้ทำงานโดยใช้เท้าเป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบเกิดการหมุนเพื่อปั่นผ้าให้สะอาด ที่สำคัญขั้นตอนการผลิตก็สามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังใช้น้ำในปริมาณที่น้อยกว่าการซักด้วยมือ พร้อมเบาะนั่งด้านบนที่ถูกออกแบบไว้เพื่อให้คุณนั่งสะดวกเหยียบสบาย หลายคนอาจจะมองว่ามันก็แค่เครื่องซักผ้า ไฉนเลยจะมีประโยชน์กับชุมชนมากนัก คำตอบก็คือ เครื่องซักผ้าชิ้นนี้ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำจากปกติ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเอาน้ำหลายเที่ยว อีกทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุอันเกิดจากการขนน้ำผ่านทางเดินที่ลำบากในทางอ้อมได้อีก ที่สำคัญเครื่องซักผ้าเครื่องนี้เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ใช้กระแสไฟ แต่ใช้การขับเคลื่อนจากเท้าของเราเท่านั้น

หนึ่งตัวอย่างที่มากด้วยความหมาย หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มากด้วยความคิด หนึ่งกลุ่มนักออกแบบที่มากด้วยน้ำใจ หนึ่งสถาบันการศึกษาที่เห้นคุณค่าของชีวิต สามารถนำศักยภาพของตนเองมาช่วยเหลือสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แล้วคุณหล่ะ เริ่มต้นทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้างหรือยัง?!!!

[vimeo url=”http://vimeo.com/42475212#at=0″ width=”600″ height=”335″]

 

อ้างอิง: Safe Agua Peru Project