หากจะพูดถึงนิยามของการออกแบบ สิ่งแรกๆ ที่เราจะนึกถึงก็คงจะเป็นการผลิตผลงานที่สามารถสร้างความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ก็คือ มันจะต้องบรรจุจุดประสงค์ในด้านการแก้ปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอยู่ในนั้นด้วย ที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้เห็นวิธีคิดและทำงานของนักออกแบบที่ดำเนินไปในลักษณะของ outside in นั่นคือการรับรู้และทำความเข้าใจปัญหาจากมุมมองของคนนอกเสียมากกว่า ทว่า Henry Franks นักออกแบบรุ่นใหม่จาก Northumbria University กลับใช้กระบวนการคิดในรูปแบบตรงกันข้ามมาสร้างสรรค์เป็นผลงานของตัวเอง
จากการเป็นผู้มีอาการดิสเล็กเซีย (Dyslexia: อาการอ่านหนังสือไม่ออก) นี่เอง ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ Henry นำวิธีคิดแบบ inside out ที่หยิบเอาปัญหาของผู้มีอาการมาเป็นแนวทางหลักในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในผู้มีอาการและผู้ใช้ทั่วไป ผลงานของ Henry เป็นการนำผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมาปัดฝุ่นใหม่ด้วยการหยิบเอาปัญหาที่กลุ่มดิสเล็กเซียต้องเผชิญมาเป็นโจทย์ เป็นต้นว่า Confused Coat Hangers งานออกแบบไม้แขวนเสื้อที่มีหัวตะขอ 2 ด้าน เพื่อช่วยผู้มีอาการซึ่งมีปัญหาด้านการมองเห็นสลับด้านซ้าย-ขวาให้สามารถหยิบใช้งานได้แบบไม่ต้องลังเล Muglexia ก็เป็นงานออกแบบถ้วยกาแฟอีกหนึ่งชิ้นที่นำเอาอุปสรรคในเรื่องการอ่านดังกล่าวมาพัฒนาเป็นถ้วยกาแฟรูปทรงแปลกตา โดยเขาสลับตำแหน่งระหว่างปากและก้นถ้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือถ้วยกาแฟที่มีก้นกว้างกว่าปากถ้วยซึ่งทำให้การวางมีความมั่นคงมากขึ้น ไปจนถึงการเข้าไปแก้ปัญหาของใช้ภายในบ้านที่มักถูกมองข้าม เช่น Coaster Plinth ที่รองแก้วซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากฟอร์มของจุกคอร์ก โดย Henry ขยายขนาดของมันให้ใหญ่ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ตั้งใจวางแก้วน้ำให้อยู่ตรงกลางของที่รองแก้ว ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การถูกปัดตกหรือหล่นจากที่รองลดลง เป็นต้น
ด้วยกระบวนการคิดที่นำเอาปัญหาของผู้มีอาการดิสเล็กเซียมาเป็นต้นขั้วทางความคิดในการออกแบบได้อย่างชาญฉลาด ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้นักออกแบบจากลอนดอนคนนี้ไปคว้ารางวัล New Designers of the Year Award 2013 ไปครองเท่านั้น แต่งานทั้งหมดยังทำให้เราเห็นว่า ‘งานออกแบบที่ดี’ ไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อนหรือฟอร์มที่หวือหวาแต่อย่างใด ทว่าคือการมองแก้ปํญหาใกล้ตัวให้ถึงแก่น แก้มันด้วยความคิดเรียบง่าย แต่จี้ให้ตรงจุดต่างหาก และที่สำคัญเลยก็คือการที่เขาไม่ปล่อยให้ความบกพร่องของตัวเองมาลดทอนคุณภาพในการใช้ชีวิตของตัวเอง หนำซ้ำยังใช้มันเป็นโอกาสเพื่อช่วยแก้ไขและปรับเปลี่ยนจุดด้อยให้กลายเป็นความสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรม แถมยังสวยและใช้งานได้จริงอีกต่างหาก น่าเอาอย่างเสียจริงๆ
Bog Standard
Poor Memory Pen
อ้างอิง: Henry Franks