ไม่อ่ะ – เชย – แก่ – ล้าสมัย – ถามจริงเหอะ ใครจะใช้ ฯลฯ มักเป็นคำพูดที่เราได้ยินเมื่อพูดถึงอัตลักษณ์ไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นยิ่งถูกนำมาขัดเกลาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว หลายคนมักจะเมินหน้าหนี แต่กลับไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาหลายหมื่นที่บางครั้งมีเพียงแค่ตัวย่อ 2-3 ตัวติดบนสินค้า คำถามที่ตามมาคือ อัตลักษณ์เราไม่ดี ภูมิปัญญาเราไม่เด่น หรือนักออกแบบต่างหากที่ตีโจทย์ไม่แตก?
‘Korakot’ แบรนด์ไทยที่หลายท่านอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่หนึ่งแบรนด์ไทยแบรนด์นี้กลับเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ นอกจาก Korakot จะตีตราว่า ‘เมดอินไทยแลนด์’ บนผลิตภัณฑ์แล้ว Korakot ยังสื่อถึงภูมิปัญญาไทยอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ได้เรียงร้อยเรื่องราวให้เกิดขึ้นบนตัวผลิตภัณฑ์ เบื้องหลังของงานออกแบบ ถูกสร้างสรรค์โดย กรกต อารมย์ดี นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ Korakot เขาได้ใช้ความรู้ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์บวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็ก ในจังหวัดเพชรบุรี เช่น การทำว่าวที่สอนโดยคุณปู่ ทำให้เขาเข้าใจถึงการตัดไม้ไผ่ การดัด การผูกเงื่อน การติดกระดาษบนโครงไม้ไผ่ บวกกับภูมิปัญาท้องถิ่นในพื้นที่ชาวประมงซึ่งสอนให้เขาเรียนรู้วิธีการใช้เงื่อนผูกสร้างแหจับปลา ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น โคมไฟตั้งพื้น โคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟสำหรับแขวน ถาดใส่ของ งานประติมากรรม ฯลฯ ที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ได้
นอกจากนี้สิ่งที่มีคุณค่ามากว่าการทำหน้าที่เป็นนักออกแบบก็คือ การนำขบวนการผลิตทั้งหมดกลับไปที่ถิ่นกำเนิดในจังหวัดเพชรบุรี โดยให้คนในพื้นที่ที่มีองค์ความรู้คู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นผู้ผลิต อันเป็นการเสริมรายได้สร้างอาชีพจากภูมิปัญญาของเขาเหล่านั้น
นี่แหละคือหนึ่งในนักออกแบบที่ผมชื่นชมในแนวคิดที่สามารถนำงานสร้างสรรค์ที่กลั่นมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพลิกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นอกจากจะสะท้อนถึงภูมิปัญญาไทยแล้ว ยังสามารถขับเคลื่อนชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราในฐานะคนไทยจึงควรหันมาพิจารณาตัวเองว่า “เราได้เข้าใจถึงอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาของไทยเราจริงๆหรือไม่” ก่อนที่จะหันหลังแล้วเดินหนีโดยไม่คิดที่จะเริ่ม
[youtube url=”http://youtu.be/gaxEtrPHSbM” width=”600″ height=”335″]
ข้อมูลอ้างอิง : www.korakot.net