‘กล่องนาบุญ’ พวงหรีดแบบใหม่ ‘บุญต่อบุญ’ ผู้รับได้ใช้ ผู้ให้ได้บุญ

ไม่ทราบว่าประเพณีการนำพวงหรีดไปเคารพศพญาติมิตรนั้นเริ่มเมื่อไหร่กัน แม้ในศาสนาไม่เคยมีบทบัญญัติไว้ แต่กลายเป็นธรรมเนียมที่คนไทยต้องทำกันอย่างขาดไม่ได้ อาจเพราะพวงหรีดดอกไม้สดประดับชื่อของผู้ที่นำมานั้น เป็นการประกาศตัวว่าเราไม่ละเลยที่จะมาแสดงความเสียใจและไว้อาลัยผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเราว่านั่นก็เป็นเรื่องที่จำเป็นในสังคมเรื่องหนึ่งเหมือนกัน

แต่บางทีก็น่าคิดนะว่าการให้พวงหรีดเป็นความสิ้นเปลืองไปหรือเปล่า? ไม่ใช่เปลืองเงินทอง แต่เพราะคุณค่าของพวงหรีดจบลงแค่ในงาน ปัญหาขยะจากพวงหรีดส่งผลกระทบต่อวัด ต่อสังคมยาวไกลกว่านั้น ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะทำให้พวงหรีดมีประโยชน์มากกว่าประดับ โดยพับผ้าห่มอัดใส่ในพวงหรีดบ้าง เปลี่ยนเป็นนาฬิกาบ้าง แต่ไม้ใบไม้ดอกก็ยังงอกออกมาเป็นขยะอยู่ดี ประเด็นชวนขบนี้มีบริษัทเนื้อนาบุญ จำกัด โดยคุณปารเมศร์ รัชไชยบุญ ได้เสนอทางเลือกด้วยพวงหรีดแบบใหม่ ไม่มีดอกไม้ใบไม้ มีแต่ของใช้ได้ประโยชน์อยู่ในรูปของ ‘กล่องนาบุญ’ เป็นวิธีที่จะให้ ‘บุญต่อบุญ’ เพราะผู้ให้ส่งต่อไปยังผู้รับคือญาติของผู้ตายก็ได้บุญไปแล้วขั้นหนึ่ง เมื่อจบงานพิธี กล่องเหล่านี้จะถูกแนะนำให้ส่งต่อบริจาคให้แก่เด็กๆ ที่ขาดแคลน ให้ญาติและผู้ตายได้บุญต่ออีก ในขณะที่ฟังก์ชั่นดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ กล่องจะถูกตั้งพร้อมป้ายชื่ออยู่ตลอดงาน ไม่ต่างจากพวงหรีดทั่วไป กล่องนาบุญจัดหมวดบรรจุของที่ต่างกัน เช่น อุปกรณ์การศึกษา เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการหลายด้านของเด็กๆ  นอกจากนั้น 10 % ของมูลค่ากล่อง ทางบริษัทจะนำไปบริจาคให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาด้วย

เราว่ากล่องนาบุญเป็นวิธีการที่ตั้งคำถามต่อธรรมเนียมปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการชี้ให้เห็นประเด็นที่เป็นปัญหาแล้วยังเสนอทางออกแบบ ‘ให้กับให้’ และ ‘ได้กับได้’ อีกด้วย

[youtube url=”http://youtu.be/cElTr6Vjxh8″ width=”600″ height=”338″]

 

[youtube url=”http://youtu.be/5n6_ZgrkYFw” width=”600″ height=”338″]

 

อ้างอิง : กล่องนาบุญ