One Laptop Per Child ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการด้วยเทคโนโลยี

ทุกวันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีและการศึกษามีความเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ หนำซ้ำยังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและเติบโตของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ท่ามกลางโลก

ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ทว่าทั้งสองสิ่งที่กล่าวมานั้นยังเดินทางไปได้ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องการขาดบุคลากรในการสอนและปัญหาความยากจน

One Laptop Per Child (OLPC) ซึ่งมีชื่อเดิมคือ $100 Laptop เป็นโครงการจัดการคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปราคาประหยัดที่ก่อตั้งโดย Nicholas Negroponte โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นบนความเชื่อที่ว่า ‘ความรู้ไม่ได้มาจากการสอนของครูเพียงอย่างเดียว แต่องค์ความรู้จะเกิดและสร้างขึ้นได้โดยผู้เรียนเอง ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง’ แล็ปท็อปของ OLPC จึงถูกพัฒนาขึ้นเป็น ‘อุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้’ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปวิธีการและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่กันดารของประเทศกำลังพัฒนา

แม้ราคาที่ Nicholas ตั้งไว้จะอยู่ที่ 100 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันในท้องตลาดอยู่หลายเท่าตัว แต่ในเรื่องคุณภาพและประโยชน์ใช้สอยกลับไม่ได้น้อยไปตามตัวเลขอย่างที่เห็น เป็นต้นว่า การมีโหมดสีที่สามารถแสดงผลได้ในระดับภาพยนตร์ หน่วยประมวลความเร็วขนาด 500 MHz หน่วยความจำขนาด 128 MB และหน่วยความจำแฟลชไดร์ฟขนาด 500 MB รวมไปถึงการมีอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายเหมือนกับเครื่องแล็ปท็อปทั่วไป ที่สำคัญคือมันสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย (Mesh Network) และเข้าอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ทำให้เด็กๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ และพูดคุยกับคนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ไม่เพียงเท่านี้ อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือตัวแบตเตอร์รี่ที่ประหยัดพลังงาน โดยจะกินไฟน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คปกติ และมีเครื่องปั่นไฟในตัวเองซึ่งสามารถผลิตพลังงานได้จากการหมุนด้วยมือ รวมถึงสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสร้างพลังงานได้ด้วย

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่แล็ปท็อปราคา 100 เหรียญจะสามารถทำทุกอย่างได้ตามที่ร่ายมา Nicholas บอกว่าพวกเขาลดต้นทุนการผลิตลง โดยเครื่องรุ่นแรกอย่าง XO-1 นั้นใช้จอแสดงผลที่พัฒนามาจากจอ LCD มีการตัดฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นออกและคงไว้เพียงฟังก์ชั่นพื้นฐาน นอกจากนี้ การผลิตในปริมาณมากๆ (เกิน 1 ล้านเครื่อง) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงได้เช่นกัน

นอกเหนือไปจากความน่าสนใจในเรื่องแนวคิด ต้นทุน และการใช้งานแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า XO-1 เครื่องนี้มีหน้าตาที่ดึงดูดใจผู้ใช้โดยเฉพาะเด็กๆ อยู่ไม่น้อย หลังจากที่ Yves Béhar ดีไซเนอร์ผู้รับผิดชอบโครงการได้รับโจทย์หลัก 4 ข้อ ที่ว่า แล็ปท็อปเครื่องนี้จะต้องมีหน้าตาที่เชิญชวนให้เด็กๆ อยากจะเข้ามาใช้งาน มีความคงทน ต้นทุนต่ำ และต้องมีภาพลักษณ์ที่เห็นแล้วต้องปิ๊งในทันที เขาและทีมงานจึงออกแบบ XO-1 ให้มีฟอร์มที่โค้งมน ดูเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน พร้อมกับการเลือกใช้สีเขียวสดมาเป็นตัวดึงความสนใจ เลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีความคงทน สามารถกันฝุ่น น้ำ และการกระแทกได้ดีเพื่อให้สามารถนำไปสมบุกสมบันที่ไหนก็ได้ รวมไปถึงหน้าจอแสดงผลในโหมดขาวดำที่สามารถใช้กลางแดดได้ ซึ่งล่าสุด Yves เพิ่งปล่อย XO-3 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยโหนกระแสด้วยการออกแบบมาเป็นแท็ปเลตขนาดกะทัดรัดที่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปฟอร์มและสีเขียว signature เอาไว้แทน

One Laptop per Child นับว่าเป็นโครงการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีต่อเด็กผู้ด้อยโอกาส เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับระบบทุนนิยมด้วยความคิดสร้างสรรค์และความตั้งใจจริง แถมยังสามารถนำเอาความรู้ในเชิงออกแบบมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบรับกับความต้องการทั้งของผู้ให้และผู้รับได้อย่างสมบูรณ์แบบ พอเห็นแบบนี้แล้ว เราก็ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า มันคงจะดีไม่น้อยถ้าความคิดประมาณนี้เกิดขึ้นที่บ้านเรากันบ้าง ผู้หลักผู้ใหญ่ลองดูเป็นแนวทางกันได้ อย่ามัวแต่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองอย่างเดียวเสียล่ะ!

 

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=c-M77C2ejTw” width=”600″ height=”350″]

 

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=PM33EEAszHA” width=”600″ height=”350″]

Nicholas Negroponte

Yves Béhar

XO-3 Tablet ผลงานต่อยอดจากโครงการ One Tablet Per Child ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2013 ออกแบบโดย Yves Béhar

อ้างอิง: One Laptop per Child, Facebook.com/one.laptop.per.child