หลังจากมีการออกแบบชุดอักษร ‘Dyslexie’ โดย Christian Boer นักออกแบบชาวเนเธอแลนด์กันไปแล้ว ในฟากของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่อย่าง ภาณุวัฒน์ อู้สกุลวัฒนาก็หยิบเอาชุดอักษรดังกล่าวมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชุดอักษรที่ชื่อ ‘ปฐม (Patom)’ ของตัวเขาเองขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นชุดอักษรภาษาไทยสำหรับผู้มีอาการอ่านหนังสือไม่ออก หรือดิสเล็กเซีย (Dyslexia) ชุดแรกๆ เลยก็ว่าได้
จากคำถามที่ว่า ‘การวิจัยเพื่อออกแบบตัวอักษรเฉพาะสำหรับผู้มีอาการดิสเล็กเซียจะสามารถช่วยบรรเทาความยากลำบากในการอ่านของผู้มีอาการได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด?’ ภาณุวัฒน์ก็เริ่มต้นหาความเป็นไปได้ โดยจุดสตาร์ทของโครงการนี้เริ่มจากการเข้าไปสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้มีอาการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมกับนักจิตวิทยาเพื่อแยกแยะลักษณะการมองเห็นของผู้มีอาการ ซึ่งสิ่งที่เขาพบคือผู้มีอาการส่วนใหญ่จะมองเห็นตัวหนังสือตามปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ด้วยการรับรู้ของสมองที่บกพร่องจึงทำให้คิดไปว่าอักษรที่พวกเขาเห็นเป็นอีกตัวอักษรหนึ่ง ปัญหาที่ตามมาก็คือการไม่สามารถแยกแยะตัวอักษรที่คล้ายคลึงกันได้หรือไม่คล่องเท่ากับคนทั่วไป ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาสะกดคำและอ่านหนังสือไม่ได้นั่นเอง
‘ปฐม’ จึงเป็นชุดอักษรที่ถูกออกแบบให้ทุกตัวมีความชัดเจนในตัวเองเพื่อลดความสับสนใจการแยกแยะตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นในการมองเห็นแบบปกติหรือการมองตัวอักษรแบบกลับด้าน มีลักษณะที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน โดยที่ตัวอักษรซึ่งมีการใช้โครงสร้างร่วมกัน เช่น ก ถ ภ นั้น ภาณุวัฒน์จะใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยและแยกโครงสร้างเฉพาะแต่ละตัว เพื่อสร้างความแตกต่างให้อักษรแต่ละตัวมีความชัดเจนมากกว่าปกติ รวมไปถึงการกำหนดระยะห่างระหว่างตัวอักษรให้กว้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านมากขึ้น
ความน่าสนใจของชุดอักษรชุดนี้นอกเหนือไปจากความพยายามในการคลี่คลายและลดทอนความซับซ้อนของอักษรภาษาไทยที่มีมากกว่าอักษรละตินเพื่อช่วยให้ผู้มีอาการดิสเล็กเซียสามารถเอาชนะข้อจำกัดทางการอ่านและสะกดคำได้แล้ว ในแง่ความสวยงาม ปฐมก็จัดว่าเป็นตัวพิมพ์ที่เมื่อนำมาใช้เป็นเนื้อความก็มีความสวยงาม อ่านง่ายสบายตา และมีเอกลักษณ์ที่แข็งแรงอีกชุดหนึ่ง ขณะเดียวกันมันยังเป็นชุดอักษรที่ผู้มีอาการดิสเล็กเซียกับผู้ไม่มีอาการสามารถใช้งานได้ร่วมกันได้กันด้วย
อ้างอิง: White-Pattern