คำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับพันคำ” นั้นเป็นจริงเสมอ แต่ใช้ได้เฉพาะกับคนทั่วไปที่ไม่ได้บกพร่องทางสายตา สำหรับเด็กตาบอด คำกล่าวข้างต้นแทบไม่มีความหมายอะไรเลยกับพวกเขา
แต่ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ได้รับการพัฒนาไปมาก เรามักจะเห็นการใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์จำลอง เสื้อผ้าและรองเท้า รวมไปถึงวงการแพทย์ก็ใช้กันมาก แต่ในแวดวงการศึกษา เรายังไม่ค่อยเห็นการประยุกต์ความสามารถของเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาใช้ประโยชน์มากนัก
ที่มหาวิทยาลัยโคโรลาโด โดย Tom Yeh นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ พร้อมกับทีมงานได้ทำโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า Tactile Picture Book ในการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาผลิตหนังสือนิทานสำหรับเด็กตาบอด โดยไอเดียหลักง่ายๆ คือการผลิตหนังสือนิทานแบบเข้าใจง่าย แม้กระทั่งคนปกติทั่วไปก็สามารถดูออกและเล่าเรื่องให้เด็กตาบอดฟังได้
โปรเจ็กต์นี้หยิบนิทานชื่อดังซึ่งเป็นที่นิยมของเด็กทั่วไปมาทำ เช่น Goodnight Moon, Harold and the Purple Crayon และ Dear Zoo โดยรูปร่างหน้าตาของหนังสือนิทานสำหรับเด็กตาบอดจะเป็นแผ่นรูปภาพหลายๆ สี ประกอบด้วยอักษรเบรลล์ เพื่อให้เด็กตาบอดสามารถอ่านนิทานจากอักษรเบรลล์ได้ และจับรูปภาพเพื่อจินตนาการไปด้วยได้ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถจะเล่านิทานผ่านรูปภาพพวกนี้ได้เช่นกัน …ที่สำคัญโปรเจ็กต์นี้ทำซอฟแวร์ฟรี เปิดให้คนทั่วไปสามารถโหลดไปใช้ได้ หากคุณมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
อ้างอิง: Tactile Picture Books, dezeen