‘ไทชิโด’ พัฒนาย่านพักอาศัยจากแหล่งเสื่อมโทรมสู่ชีวิตคุณภาพดี

1
สิ่งที่พบเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดและมักถูกนำมาใช้วัดค่าการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของเมืองก็คือ อาคารสถาปัตยกรรมหลังใหม่ที่โผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ดตามย่านธุรกิจพร้อมๆ กับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่วิ่งจากนอกเมืองสู่หัวเมืองชั้นใน แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าทุกพื้นที่ของเมืองใหญ่จะได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับย่านไทชิโด (Taishido) แหล่งชุมชนหนาแน่นที่มีประชากรทั้งสิ้น 6,500 คน 4,100 ครัวเรือนอาศัยรวมกันในพื้นที่เพียงแค่ 3.56 ตารางกิโลเมตร แหล่มเสื่อมโทรมในกรุงโตเกียวที่เดินสวนทางกับคุณภาพชีวิตที่ดีตามแหล่งเศรษฐกิจ

ไทชิโดเป็นย่านที่อยู่อาศัยแบบเรือนไม้และอพาร์ทเม้นท์ที่มีการกระจุกตัวสูง (มีความหนาแน่นสูง) ระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย มีตรอกซอกซอยแคบไม่ปลอดภัย บางแห่งเป็นซอยตันและไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการพักผ่อนของชุมชนเลย การฟื้นฟูเมืองเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1980 โดยภาครัฐได้จัดทำเวิร์คช๊อปถึง 7 ครั้งเพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายในการพัฒนาผังเมืองภายในย่านไทชิโด พร้อมรับฟังความต้องการจากคนในชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบย่านที่อยู่อาศัยแห่งนี้ ในปี ค.ศ. 2000 สวนสาธารณะขนาดเล็กจำนวน 18 แห่ง พร้อมสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่งถูกสร้างขึ้น นอกจากจะช่วยให้คนในชุมชนมีพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนแล้ว สวนสาธารณะทั้งหมดนี้ยังทำหน้าที่เป็นแนวกันชน (Buffer Zone) สร้างความปลอดภัยในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย นอกจากนี้ทางภาครัฐยังออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการออกแบบชุมชนให้มีความน่าอยู่และปลอดภัย

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเมืองนอกจากจะเป็นโจทย์หลักที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญแล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย การอธิบายเหตุผลพร้อมร่วมเปิดอกรับฟังความต้องการของชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาชนในพื้นที่ควรเป็นคนกำหนดทิศทางการเติบโตที่แท้จริงของตนเอง ย่านไทชิโดสะท้อนให้ผมนึกถึงแหล่งชุมชนแออัดที่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ถึงเวลาที่ทางภาครัฐควรหาหนทางในการพัฒนาพื้นที่โดยให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการพัฒนา เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับคนในชุมชน

Taishido-1 Taishido-2 Taishido-4 Taishido-3 Taishido-5 Taishido-6

อ้างอิง : The Making of Urban Japan, Citation/All academic