แน่นอนว่ารถแท็กซี่ถือเป็นพาหนะสำคัญประเภทหนึ่งของเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ ทุกเมืองในโลกก็มักจะใช้ ‘ดีไซน์ของรถแท็กซี่’ นี่แหละเป็นวิธีหนึ่งในการส่งผ่านอัตลักษณ์ของเมืองเมืองนั้น เช่น Black Cab ของลอนดอนเนอร์ Yellow Cab ของนิวยอร์คเกอร์ หรือแม้แต่แท็กซี่สีเขียวเหลืองสุดจ๊าบของชาวกรุงเทพฯ เอง
แต่กับมหานครระดับบิ๊กอย่าง ‘มุมไบ’ ประเทศอินเดีย เมืองที่มีประชากร 21 ล้านคน และมีรถแท๊กซี่คอยวิ่งบริการมากถึง 55,000 คันต่อวัน ที่ผ่านมาแท็กซี่ของมุมไบกลับยังไม่ค่อยมีอะไรให้พูดถึงกันนัก ส่วนใหญ่มักจะขัดสีฉวีวรรณกันแค่ภายนอก แต่ข้างในรถนั้นกลับเน่าเยินฝุ่นเขรอะ ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ (พอๆ กับแท็กซี่ไทย) ด้วยเหตุนี้กลุ่มศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าในอินเดีย จึงอยากจะใช้พื้นที่ ‘ภายในรถแท็กซี่’ นี่แหละ จัดทำโครงการตัวอย่างชื่อ ‘Taxi Fabric’ เพื่อโปรโมทให้คนทั่วไป (โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นเก่าๆ ในมุมไบ) หันมาเห็นถึงพลังเชิงบวกที่ ‘งานดีไซน์ดีๆ’ จะมีต่อจิตใจและวิถีชีวิตของผู้คนกันมากขึ้น
ในขั้นแรกโครงการ Taxi Fabric ได้ขอความร่วมมือจากรถแท็กซี่มุมไบจำนวน 25 คัน เพื่อเปิดรถเป็น ‘แคนวาสงานศิลปะ’ ให้เหล่าศิลปินนักออกแบบนำงานผ้าที่ดีไซน์โดยคนอินเดียแท้ๆ มาใช้เป็นวัสดุตกแต่ง โดยพวกเขาได้ระดมเงินส่วนตัวจัดการแปลงโฉมแท็กซี่ 5 คันแรกเองก่อน และส่วนที่เหลือตั้งใจจะระดมทุนผ่านทางเว็บไซต์ Kickstarter (ผลปรากฏว่าเมื่อคนเริ่มเห็นผลงาน ยอดบริจาคก็ทะลักทะล้นเข้ามาจนทะลุเกินเป้า ล่าสุดทีมงาน Taxi Fabric ประกาศแล้วว่า ยอดเงินที่ระดมได้ผ่านทาง Kickstarter สามารถจะทำรถแท็กซี่อาร์ตๆ นี้ได้มากกว่า 30 คัน) ที่น่าชื่นชมคือกระบวนการแปลงโฉมครั้งใหญ่นี้ถูกวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี โดยรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการจะถูกขอให้ ‘หยุดวิ่ง’ เพียงแค่คันละหนึ่งวันเท่านั้น (ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของรถมากเกินไป) และในหนึ่งวันนี้เหล่าศิลปิน-นักออกแบบ จะต้องเนรมิตทุกอณูภายในรถแท็กซี่ขึ้นใหม่ ด้วยผ้าที่พวกเขาได้เลือกมาใช้ เป้าหมายที่จับต้องได้คือการแปลงโฉมแท็กซี่ทั้งคันให้กลายเป็นห้องศิลปะสีสันสดใส และส่งผ่านเอกลักษณ์แบบอินเดียๆ ที่ไม่ซ้ำใคร และไม่มีใครเหมือนด้วย
ช่วงแรกของโครงการ Taxi Fabric ถือว่าประสบความสำเร็จไปแล้วอย่างสวยงาม เจ้าของรถแท็กซี่ต่างชื่นชมว่า ลูกค้าของพวกเขาแสดงความใส่ใจกับบริการและให้ความเป็นมิตรกับคนขับรถมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์เชิงบวกที่พิสูจน์ชัดว่า งานดีไซน์ดีๆ นั้นสามารถกระตุ้นให้ผู้คน ‘รู้สึกดี’ กับชีวิตประจำวันได้! ในเบื้องต้นนี้รถแท็กซี่ทุกคันที่เข้าร่วมโครงการ Taxi Fabric ได้ถูกขอให้แสดงงานในรถไปอย่างน้อย 4-5 เดือน ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้สาธารณชนคนมุมไบราว 4,000 คนเป็นอย่างน้อยได้รู้สึก ‘อารมณ์ดี’ จากช่วงเวลาสั้นๆ ในรถแท็กซี่ของพวกเขา
จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในรถแท็กซี่ (หรือพื้นที่ปิด) เท่านั้นที่ศิลปินจะออกมาวาดลวดลายสร้างพลังบวกกันได้ เราคิดว่าในเมืองใหญ่ต่างๆ ยังมีพื้นที่สาธารณะอีกมากที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ในเชิงสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ เมืองคนฮิปของเรา จริงๆ ก็มีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อย ทั้งบนรถเมล์ เรือข้ามฟาก หรือตามชานชาลาต่างๆ …แค่พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะมองให้เห็นมันเท่านั้นแหละ
[youtube url=”http://youtu.be/ixJ8D4rQXUU” width=”600″ height=”350″]
อ้างอิง: Taxi Fabric, QZ