‘ฟอนท์ภาษามือ’ เปิดโลกการเรียนรู้ให้ผู้พิการทางการได้ยิน

ขอแชร์นะคะน้ำตาจะไหล…อีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ฝีมือคนไทยใน ‘โครงการออกแบบสื่อการสอนสำหรับคนพิการทางการได้ยิน (Pictorial Symbol design for Deaf people)’ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาชุดการสะกดนิ้วมือด้วยสัญลักษณ์ภาพภาษามือ (หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฟอนท์อักษรมือ) ในระบบ ‘ภาษาไทย’ ที่มีการอ้างอิงรูปแบบมาจาก ‘แบบสะกดนิ้วมืออเมริกัน’ เป็นโครงการของ อาจารย์ณัฐนันทน์ แนวมาลี ประจำภาควิชานิเทศศิลป์ คณะนิเทศศาตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเขาเกิดความสนใจในการใช้สัญลักษณ์มือนี้ขึ้นมาจากช่วงที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศแล้วประสบกับอุปสรรคทางภาษา

อาจารย์ณัฐนันท์ทำการค้นคว้าและพัฒนารูปแบบสัญลักษณ์ภาษามือ โดยศึกษาอ้างอิงรูปแบบภาษาภาพจาก ISOTYPE (International System of Typographic Picture Education) และ ISO7001, Public Information Symbol และเลือกใช้รูปแบบภาษามือแบบอเมริกันเพราะสามารถใช้สื่อสารได้ด้วยมือข้างเดียว จนสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่เริ่มต้นจากรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ประกอบด้วย แผ่นภาพการเรียนชุดอักษรมือภาษาไทย และ ตัวอักษรภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน จากนั้นจึงต่อยอดเป็นผลงาน ชุดอักษรมือภาษาไทยและอเมริกันNattanan TSL Fingerspelling’ ที่สามารถพิมพ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ รองรับกับทุกโปรแกรม (ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Word, Excel หรือ Adobe illustrator) โดยได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบชุดอักษร คือ คุณพล อุดมวิทยานุกูล (เจ้าของฟอนต์ Naipol) ที่ช่วยจัดการฟอนท์ภาษามือให้อยู่บนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์จนสามารถใช้งานได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษปกติ อีกทั้งความช่วยเหลือด้านวิชาการและตรวจสอบความถูกต้องจาก อาจารย์วราภรณ์ จึงสุวดี รองผู้อำนวยการโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์

เมื่อสามารถใช้งานได้ง่ายกับคอมพิวเตอร์ แถมยังมีการจัดการเป็นระบบและได้มาตรฐานเช่นนี้ จึงส่งผลให้การผลิตสื่อสำหรับผู้พิการทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไม่เหมือนวิธีเดิมที่ต้องมีการวาดซ้ำๆ หรือถ่ายเอกสารทีละแผ่นแล้วตัดแปะภาพภาษามือ (กว่าจะเสร็จเป็นแผ่นภาพการเรียนสักหนึ่งแผ่น!) ช่วยขยายโลกการเรียนรู้ให้กับผู้พิการทางการได้ยินให้กว้างไกลขึ้น ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ภาษามือได้ง่ายขึ้นด้วย

โครงการนี้อนุญาตให้ดาวน์โหลดชุดตัวอักษรไปใช้ฟรีค่ะ เชิญแวะที่หน้าเว็บไซต์ของโรงเรียนเศรษฐเสถียร (http://www.setsatian.ac.th/download.html) โดยอาจารย์ณัฐนันท์ยินดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้นักออกแบบคนอื่นนำผลงานชุดนี้ไปพัฒนาต่อ “ผมมองว่าโปรเจ็กต์ที่ผมทำ เหมือนกับการสร้างโครงกระดูกขึ้นมา เพื่ออนาคตชิ้นส่วนกราฟฟิกเหล่านี้ ถ้ามีน้­องๆ หรือผู้ที่สนใจอยากจะทำต่อ สามารถนำมาพัฒนาเป็นภาษามือใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเองครับ

และติดตามข่าวสารของโครงการนี้ได้ที่เฟซบุ๊คของ Thai Hand Signal Design Project

[youtube url=”http://youtu.be/ZRf-ja3Z8ig” width=”600″ height=”340″ fs=”1″ hd=”1″]

 

แบบทดสอบภาษามือ ให้น้องๆ นักเรียนโรงเรียนเศรษญเสถียรทดลองใช้ชุดอักษรภาษามือ ‘Nattanon TSL Fingerspelling’

อาจารย์ณัฐนันทน์ แนวมาลี  

อ้างอิง: Thai Hand Signal Design Project