เหตุเกิดเมื่อ ‘เมืองจมน้ำ’ และมนุษย์ตาดำๆ อย่างเรา ‘ต้องรอด!’

นิทรรศการดีๆ เมื่อปลายปี 2554 ชุดนี้เป็นผลงานที่ตอบข้อสงสัยของใครหลายคนว่า กลุ่ม Design for Disasters ผู้รับมือกับภัยพิบัติด้วยความสร้างสรรค์ เขาทำอะไรกัน และใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปในทางไหนหนอ? คำตอบที่เป็นรูปธรรมถูกจัดวางให้เห็นเด่นชัดอยู่ในพื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (20 ตุลาคม 2554 – 29 มกราคม 2555) เพื่อแสดงว่า เราจะมีชีวิตรอดด้วยความสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ ที่จัดวางมาอย่างดีด้วยฝีมือศิลปิน เพื่อสื่อความหมายให้ระลึกถึงเหตุแห่งอุทกภัย กระตุ้นจิตสำนึกต่อธรรมชาติ หรือถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ ที่ชาวบ้านชาวเมืองหยิบจับมาปรับใช้รับมือกับน้ำท่วม ก็ถูกนำเสนออยู่ร่วมพื้นที่เดียวกันได้อย่างกลมกลืน ด้วยมุมมองของกลุ่ม Design for Disasters และภัณฑารักษ์ของงาน ที่เชื่อว่าเมื่อมาถึงโมเมนท์ที่ ‘ต้องรอด!’ แล้ว คนทุกคนย่อมคั้นความคิดหาหนทางฝ่าวิกฤติไปได้ ส่วนในเวลาที่ไม่ได้เผชิญกับน้ำท่วมจังๆ เราก็ควรหาวิธีเตรียมการรับมือที่จะอยู่กับน้ำ และหาทางรอดในระยะยาวด้วย ทำให้มองภาพออกว่า นอกจากการแก้ปัญหาเชิงนโยบายหรือโครงสร้างใหญ่ระดับเมือง ระดับประเทศแล้ว ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบก็มีหน้าที่สำคัญในต่อกรกับภัยพิบัติเช่นกัน แล้วทำได้ด้วยมันสมองและสองมือของใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่อะไรเลยด้วยซ้ำ

อ้างอิง: DesignForDisasters