เสียงพูดนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนเราเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน แต่ละคนจะมีรูปแบบเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงอายุ วิถีชีวิต และบุคลิกภาพ แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่มีความผิดปกติในการออกเสียง ก็ต้องศึกษาภาษามือเพื่อช่วยในการสื่อความหมาย หรืออาจใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูดที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ในการสื่อสาร แต่กระนั้นเสียงพูดที่ออกมาจากอุปกรณ์เหล่านี้กลับมีเสียงที่คล้ายคลึงกันไปหมดและไม่สอดคล้องกับตัวตนผู้ใช้ นั่นเป็นเหตุว่าทำไม สตีเฟน ฮอว์คิงถึงได้มีสำเนียงอเมริกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขามีสัญชาติอังกฤษ หรือผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ต้องใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงที่เป็นเสียงผู้ชาย
ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านการพูด Rupal Patel ร่วมกับ Dr. Tim Bunnell ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์เสียง ศึกษาค้นคว้าวิธีการใช้ประโยชน์จากเสียงเอกลักษณ์ประจำตัวของผู้ป่วยที่หลงเหลืออยู่ ในการสร้างเสียงสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ภายใต้โครงการที่เรียกว่า Vocalid หรือ Vocal I.D (Vocal identity) ที่แปลว่า ‘เอกลักษณ์เสียง’ หลักการง่ายๆ ก็คือ การนำเสียงของผู้ป่วยมาผสมผสานกับเสียงของคนปกติที่มีอายุ เพศ และเสียงที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดเป็นเสียงสังเคราะห์ที่ใกล้เคียงกับเสียงจริงของผู้ป่วยมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งการที่จะได้มาซึ่งเสียงเหล่านี้ จะต้องมีผู้ที่เป็นตัวแทนเสียงในการอ่านประโยคสั้นๆ เช่น ฉันชอบนอน ท้องฟ้าสีครามไร้ซึ่งเมฆ ฯลฯ ประมาณสามถึงสี่ชั่วโมง ซึ่งประโยคต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นประโยคที่ผู้ป่วยต้องการจะพูด แต่เป็นการอ่านออกเสียงให้ครอบคลุมส่วนผสมต่างๆ ทั้งหมดของเสียงที่มีอยู่ในภาษา จากนั้นประโยคต่างๆ จะถูกแจกแจงให้เป็นส่วนเล็กๆ ของถ้อยคำ เสียงผสมหนึ่งหรือสองเสียงและจะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า ‘คลังเสียง’ เพื่อผสมผสานให้เป็นเสียงหรือคำใหม่
ขณะนี้รูพอลได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.vocalid.org เพื่อเป็นช่องทางการรับบริจาคเสียงของตัวแทนเสียงทั่วโลก เพื่อสร้างคลังเสียงขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในการสังเคราะห์เสียงให้กับผู้ป่วยทางด้านเสียงจากทั่วทุกมุมโลกให้ได้ใช้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งเธอได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การบริจาคเลือด สามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ แต่การบริจาคเสียงของเรานั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้อื่นได้”
[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=d38LKbYfWrs” width=”600″ height=”340″]