‘อารันดร์ อาชาพิลาส’ BE Magazine ไม่ใช่นิตยสารแต่คือการทำงานเพื่อสังคม


ต้นทุนชีวิตของคนเราเกิดมามีไม่เท่ากัน ในบรรดาคนที่มีต้นทุนชีวิตน้อยนิด จำนวนหนึ่งก็แกร่งพอที่จะฝ่าฟัน สร้างโอกาสให้ตัวเอง แต่อีกไม่น้อยที่ไม่อาจลืมตาอ้าปากไปให้พ้นจากความยากจนได้จริงๆ หากมีเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาได้ก้าวผ่านจุดเริ่มต้นไปได้ คุณว่ามันจะดีแค่ไหน

เรารู้จักคุณต้น อารันดร์ อาชาพิลาส จากผลงานของเขา BE Magazine นิตยสารเพื่อสังคม ที่ไม่เพียงมีนำเสนอเนื้อหาว่าด้วยความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนสังคมแล้ว ยังวางระบบการขายนิตยสารหลักอยู่กับผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย

BE Magazine เปิดโอกาสให้คนที่กำลังลำบากสามารถนำนิตยสารไปขายได้ พวกเขาอาจจะเป็นคนที่ตกงาน คนไร้บ้าน หรือเด็กเร่ร่อน ที่นี่มีงานให้เขาทำ เมื่อแรกเข้าจะได้รับการอบรม ได้ยูนิฟอร์ม และได้รับนิตยสารไปทดลองขายฟรี 30 เล่มแรก ขายในราคาเล่มละ 45 บาท ก็จะได้ทุนเริ่มต้น 1,350 บาท หลังจากนั้นเล่มต่อๆ ไป ก็รับซื้อในราคาเล่ม 25 บาท และได้ส่วนต่าง 20 บาทต่อเล่ม เก็บสะสมเป็นทุนรอนสำหรับเริ่มต้นชีวิต เงินจำนวนนี้อาจน้อยนิด เมื่อเทียบกับเงินในกระเป๋าของใครหลายคน แต่มันสามารถผันเป็นปัจจัย 4 ได้สำหรับคนจำนวนไม่น้อย ทั้งห้องเช่าขนาดเล็ก อาหาร เสื้อผ้าที่พอใช้สักชุด ที่สำคัญอาชีพขายหนังสือก็ยังเป็นเครื่องมือผลักดันให้พวกเขายืนหยัดเปิดทางให้ชีวิตตัวเองต่อไปได้อีก


Q: เพราะอะไรคุณจึงลงมือทำ BE Magazine

A: ความตั้งใจของผมเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ เมื่อผมได้เห็นงานของในหลวง ผมเคยมีโอกาสไปทำงานอาสาในโครงการของในหลวงและสมเด็จย่าที่ดอยตุง ที่ท่านนำธุรกิจกาแฟไปปราบธุรกิจฝิ่น ผมได้มุมมองนี้ พอไปเรียนต่อต่างประเทศและจะกลับมาเมืองไทย ก็คิดว่าเราควรเอาอะไรกลับมามากกว่าใบปริญญา ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็เดินไปเรียน และเดินผ่านคนที่เขาขายนิตยสาร BIG Issue (นิตยสารของอังกฤษที่ให้ผู้ด้อยโอกาสนำไปขายสร้างอาชีพ) เป็นประจำ จึงทดลองนำไอเดียนี้กลับมาทำที่เมืองไทยบ้าง

Q: ยากแค่ไหนในช่วงเริ่มต้น คุณต้องเจอกับอะไรบ้าง

A: ยากมาก มันไม่มีอะไรง่ายหรอกครับ ผมเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ตัวเองว่าผมมีและไม่มีอะไร ผมพอมีทุน แต่ความรู้ภาษาไทยผมแค่ป.6 ผมก็หาบรรณาธิการที่มีประสบการณ์เข้ามาทำแทน ตรงจุดนี้ก็ช่วยให้มันไปได้ แต่ผมก็เจอความผิดพลาด ตอนแรกผมตั้งราคาขายไว้ที่เล่มละ 20 บาท ให้คนลำบากมารับซื้อไปขายในราคาเล่มละ 1 บาท แล้วก็หวังว่าจะมีโฆษณาเข้าเยอะ ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามที่คิด กลายเป็นว่าเอ็นดูเขา แต่เอ็นเราขาด เราจึงต้องขึ้นราคาเป็น 45 บาท นี่คือตัวอย่างความผิดพลาดในช่วงแรก ไม่ว่าคุณจะทำอะไร สิ่งที่จะเกิดก็คือความผิดพลาด เพราะฉะนั้นคุณต้องบริหารความผิดพลาดให้ดี

Q: ชีวิตของผู้ด้อยโอกาสเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อมาขายนิตยสาร

A: BE เป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าคุณเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีเงิน พอมาขายหนังสือ คุณก็มีทุนเริ่มต้นชีวิต มีห้องเช่า มีเสื้อผ้าที่จะใส่ไปสัมภาษณ์งานได้ มีประวัติการทำงาน โอกาสที่จะได้งานก็สูงกว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เราได้เริ่มโครงการส่งต่อคนทำงานให้กับบริษัทอื่น เช่น เทสโก้โลตัส ไทยน้ำทิพย์ ให้เขาได้ทำงานประจำ ไม่ได้จบที่นี่เท่านั้น เราฝึกเขาแล้ว เราก็ดันเขาไปต่อ ตอนนี้เราก็คุยกับปปส.อยู่ว่าจะหาคนที่ได้รับความลำบากจากยาเสพติด พามาฝึกทำงาน แล้วก็ส่งต่อไปที่บริษัทอื่น เราเป็นแค่บันไดขั้นแรกให้

Q: เล่าเรื่องราวของพวกเขาที่คุณประทับใจให้ฟังบ้างได้ไหม

A: ผมชอบเคสหนึ่งคือพี่พิงค์ซึ่งเป็นคนขายนิตยสารของเรา พี่พิงค์เป็นคนติดเหล้า ตอนนี้ก็ช่วยบำบัดแกอยู่ในระดับหนึ่ง คือลดปริมาณตังค์ในกระเป๋า บังคับให้หยอดกระปุกให้มากขึ้น ทำให้เกิดโครงการสัจจะสะสมทรัพย์ เป็นโครงการช่วยออมเงินซึ่งมีที่มาอยากช่วยพี่พิงค์บำบัดเหล้านั่นเอง อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้แกอยากเป็นคนดีขึ้นคือ ผมเรียกแกว่าครูพิงค์ เพราะแกเป็นคนที่ไปสอนเด็กใหม่ที่เข้ามา คอยเทคแคร์ว่าต้องทำอย่างไร ผมจึงเรียกแกว่าครูเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง และเคสหลายๆ เคสที่เขามีลูก มีครอบครัว เราก็อยากช่วยให้เขาลดค่ารายจ่ายลง จึงเกิดโครงการให้เขาสามารถซื้อของใช้ประจำวันได้ในราคา 1 บาท โครงการตลาดนัดบาทเดียวก็มาจากตรงนี้

Q: คุณได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานไหนบ้างหรือเปล่า ทั้งด้านเงินทุน ความรู้ หรือข้อมูล

A: เรื่องทุนไม่ได้จากที่ไหนเลย แต่ถ้าในแง่เป็นลูกค้าป้อนงานให้ เราก็ได้ สสส. สกส. ทำงานด้วยกัน เป็นรูปแบบของการสนับสนุน แต่ในเรื่ององค์ความรู้ คือต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง แล้วก็ถ้าคุณจะสอนคนคนหนึ่งให้ทำธุรกิจ คุณจะให้องค์ความรู้เขาอย่างไร สุดท้ายแล้วต้องลองทำแล้วพลาดเอง ถ้าเป็นเรื่องข้อมูลของคนที่กำลังลำบาก เราร่วมมือกับคุณครูข้างถนน มูลนิธิอิสระชน แล้วก็สภาสังคมสงเคราะห์อยู่ครับ อีกหน่อยก็จะมีปปส.เพิ่มขึ้นด้วย

Q: นอกจากนิตยสาร คุณวางแผนขยายงานเพื่อสังคมด้านอื่นๆ อีกไหม

A: ผมขออธิบายโครงสร้างบริษัทให้เห็นภาพ คือ ชิล ชิล แคปปิตัล มีทีมงานที่ดี ผลิตนิตยสารที่ดีได้แล้ว เราจึงเปิดอีกแผนกหนึ่งรับผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งรับงานจาก ThaiPBS สสส. สกส. ปีนี้เราตั้งใจว่าเราจะพัฒนาการผลิตสื่อ ทำขาด้านโปรดักชั่นเฮาส์ให้แข็งขึ้น เพราะตัวนี้สามารถทำกำไรได้ กำไรไม่ได้กลับเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น แต่ผมนำมาทำงานเพื่อสังคมด้านอื่นๆ ต่อ ตอนนี้ผมจะเก็บเสบียงก่อน แต่ก็เริ่มทำอะไรใหม่ๆ บ้างแล้ว ในด้านเทคโนโลยี ผมลงทุนกับ Application Developer ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ออกแบบแอพพลิเคชั่น Freehap ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีความสุขมากขึ้น และผมลงทุนทำเว็บไซท์ด้วย ชื่อ goodbacker ช่วงนี้กำลังโปรดักชั่นอยู่ ถ้าไม่ทันปลายปีนี้ ก็จะเปิดตัวต้นปีหน้า เว็บนี้ใช้หลักการ Crowd Funding สมมติว่า หน่วยกู้ระเบิดทางภาคใต้ต้องการซื้อเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์กำลังสูง แต่ไม่มีเงิน มีใครสนใจจะช่วยไหม เขาก็ประกาศผ่านเว็บไซต์นี้ได้ หรือคลับอิสราอยากจะทำสารคดีเกี่ยวกับส่งแวดล้อม เราก็สามารถที่จะระดมทุนได้ ก็เป็นการเชื่อมทั้งฝั่งที่อยากจะช่วยเหลือคน และฝั่งที่กำลังขาดแคลน ตัวคนที่จะทำโปรเจ็คท์ก็สามารถมีทุนเริ่มต้นได้ด้วย

ที่ผมทำ goodbacker เพราะผมต้องการไปลดต้นทุนของการเริ่มต้น แต่ผมไม่สามารถสนับสนุนคนทุกคนได้ ผมจึงเซ็ทระบบที่คนสามารถสนับสนุนกันและกันได้

ผมเองทำฐานข้อมูลธุรกิจเพื่อสังคมให้สกส. ชื่อ SE Catalog จึงได้รู้ว่าเราต้องไปลดราคาของความผิดพลาดลง ความผิดพลาดเช่น ผลิตสินค้าออกไปจะมีคนซื้อหรือเปล่า ต้นทุนการวิจัยเริ่มต้น สิ่งเหล่านี้มีราคา ถ้าพลาดแล้วคุณก็ต้องจ่าย ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยง เหมือนการทำธุรกิจทั่วไปนั่นแหละ แต่ถ้ามีที่ให้คุณ Pitch ไอเดีย คุณจะได้ทั้งเงินทุนเริ่มต้น ได้ทั้งฐานลูกค้า และจะเป็นพื้นที่ที่น่าจะช่วยคนได้เยอะมาก

นอกจากนี้ผมก็ยังทดลองทำอย่างอื่นด้วย อย่างทดลองหาวิธีทำเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า เช่น ปลูกมะนาวในถังที่ทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น หรือลองปลูกกล้วยกล่ินชอกโกแลต ผมจะมีของเล่นแปลกๆ เยอะ ผมทำเพราะสนุก แต่เอาจริง คือถ้าทดลองวิธีเหล่านี้สำเร็จ ก็จะสนับสนุนเกษตรกรไปทำต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ หรือผมจ้างสถาปนิกชุมชนให้ทำโครงการหลอดไฟจากขวดน้ำในสลัม สิ่งเหล่านี้ผมทำได้จากกำไร พอมีเงินแล้วก็มีอำนาจการตัดสินใจทำได้ทันที เงินสำคัญในจุดนี้ ซึ่งถ้าแผนกผลิตสื่อสิ่งพิมพ์สามารถขยายตัว ทำกำไรได้มากขึ้น ผมก็จะขยายการทดลองต่างๆ ตามไปด้วย เราไม่ควรจะติดกับวิธีเดียวที่จะทำให้เราก้าวกระโดดไปได้ อะไรที่คิดว่าทำได้ก็ลองทำเลย


Q: คุณมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

A: หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนครับ ผมไม่ได้พูดเล่นนะ คุณลองอ่านหนังการ์ตูนโดราเอมอนตอนยาวสิ มันพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานมากแล้ว การ์ตูนโดราเอมอนสอนให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และตรรกะสามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรหลายๆ อย่างได้ และการช่วยคนก็ไม่จำเป็นต้องไปหวังว่าเขาจะมาขอบคุณเรา แต่เราทำเพราะเรารู้ว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่ทำเพราะรู้สึกว่าเราดีกับคนอื่น แต่เราอยู่ในจุดที่ทำได้ก็ควรจะทำ โดราเอมอนสอนอะไรหลายอย่าง สอนให้รู้จักถ่อมตน สอนให้ใช้วิทยาศาสตร์ สอนให้รู้ว่าความอ่อนโยนจะชนะความแข็งกร้าวได้เสมอ เพราะความอ่อนโยนช่วยดึงคนให้เข้ามาสามัคคีได้ ผมว่าผมมีวันนี้ได้ก็เพราะหนังสือการ์ตูนโดราเอมอนนะ

Q: คิดว่าอาชีพสื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไรบ้าง

A: สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะมีคนมาบอกว่าคุณต้องเป็นคนดีนะ วิธีเดียวที่จะทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงคือ คุณต้องทำเป็นตัวอย่างให้ดู ไม่เกี่ยวว่าคุณเป็นสื่อหรือไม่ ประเด็นที่สองคือคนทุกคนเกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอยู่แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องมาทำธุรกิจเพื่อสังคมก็ได้ ขอให้คุณปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างของคุณให้ดีขึ้น นั่นก็เปลี่ยนโลกของคนรอบข้างแล้ว เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนก็ได้ เพราะแต่ละคนอยู่ในจุดที่จะทำได้มากน้อยแตกต่างกัน

Q: ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตในสังคม

A: ธุรกิจเพื่อสังคมจะเติบโตได้ ปัจจัยแรกอยู่ที่สินค้าและบริการดีพอหรือเปล่า ถ้าของดีก็โตได้เอง สองคือต้องมีทัศนคติที่ยอมรับความผิดพลาดได้เร็ว อย่ากลัวความผิดพลาดของตัวเอง ความรู้สึกว่าตัวเองผิดไม่น่ากลัว แต่ต้องระวังความรู้สึกว่าตัวเองถูก เพราะส่วนใหญ่คนจะผิดในตอนที่คิดว่าตัวถูก 100% งานพัฒนาสังคมไม่ใช่งานง่าย ต้องดีลกับคนมากมาย ต้องอภัยคนให้เป็น คุณต้องมองความผิดพลาดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนเราบางครั้งต้องผิดเป็น 1,000 ครั้ง กว่าจะถูกแค่ครั้งเดียว หากเรายอมรับความจริงแค่นั้นได้ เราจะเรียนรู้อะไรได้เยอะมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม : BE Magazine
เฟสบุ๊ค : http://www.facebook.com/BEMagazineNonProfit
Photo Credit: Pasin Tamm Auttayatamavitaya