‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ ครีเอทีฟเอเจนซี่ กลุ่มนักคิดเพื่อสังคม


“งานสร้างสรรค์ = งานดีดี ดีแรก คือ งานที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร น่าสนใจ และได้ผล ดีที่สอง คือ งานที่ดีงามและมีคุณธรรม มีประโยชน์มากกว่าแค่ตัวเราเอง” คำอธิบายสั้นๆ หน้าเฟซบุ๊คที่ดึงความสนใจให้เราอยากเข้าไปทำความรู้จักกับ ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ creative agency ที่พยายามทำงานให้มากกว่าทำ AD ทีมนี้ให้มากขึ้น

ด้วยประสบการณ์ทำงานในสายโฆษณามาเกือบสิบปี สมาชิกทั้งห้าที่ประกอบด้วย ป๋อม ไชยพร (ป๋อม) บุญชัย สุขสุริยะโยธิน (ยอด) คมสัน วัฒนวาณิชกร (กิ๊บ) ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ (เม้ง) และไพรัช เอื้อผดุงเลิศ (เป้า) รู้ดีว่าในระบบทุนนิยมนั้น โอกาสที่จะฉีกไปทำงานเพื่อสังคมบ้างไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย เพราะงานทุกชิ้นล้วนมีคำว่า ‘ธุรกิจ’ และ ‘ตัวเลข’ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ทั้งหมดจึงตัดสินใจเดินออกจากการทำงานกระแสหลักเพื่อสร้างพื้นที่ของตัวเองกับการสร้างสรรค์งานโฆษณาที่พวกเขารัก ด้วยเป้าหมายที่ต่างไปจากเดิม

(จากซ้ายไปขวา) ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ (เม้ง), บุญชัย สุขสุริยะโยธิน (ยอด), ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ (เป้า), ป๋อม ไชยพร (ป๋อม), คมสัน วัฒนวาณิชกร (กิ๊บ)

Q: จุดเริ่มต้นของ ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ เกิดขึ้นได้อย่างไร

A: จริงๆ เริ่มต้นมานานแล้วฮะ คือทุกคนคิดเหมือนกันเพียงแต่ยังไม่ได้พูดกัน จนมีคืนหนึ่งที่เรา pitching งานกันข้ามคืนแล้วกิ๊บพูดขึ้นมาว่า เฮ้ย! ถ้าเราเอาคนทั้งออฟฟิศในค่ำคืนนี้ไปทำงานอย่างอื่นบ้างน่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้ ตอนนั้นก็ฉุกคิดขึ้นมา มันเหมือนกับว่าที่ผ่านมาเราทุ่มเทกำลังและความคิดในการทำงาน commercial มาตลอด แล้วพวกเราเริ่มมีมุมมองเรื่องการทำงานที่เปลี่ยนไปว่าเราอยากใช้ความสามารถในด้านอื่นบ้าง แต่ไม่ได้ว่าเรารังเกียจงานเดิมนะ แค่เริ่มตกตะกอนว่า เราสามารถทำงานในออฟฟิศได้ ขณะเดียวกันเราก็ทำงานเพื่อสังคมได้ด้วยนะ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ทำงานไป แต่พอทำมามันค่อยๆ พัฒนาขึ้น เริ่มจะเห็นมูลค่า คุณค่า และบางอย่างที่ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานมา 7-8 ปี เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงระบบทุนนิยมเพื่อปั่นตัวเลขนะครับ แล้วเราก็เริ่มเกิดคำถามกับตัวเอง เห็นคนที่เขาเป็นครีเอทีฟ เป็นนักออกแบบ เขาทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์ เราก็เริ่มอยากออกมาทำอะไรที่เป็นของเราเองบ้าง

คมสัน วัฒนวาณิชกร (กิ๊บ)

Q: แล้วชูใจแตกต่างกับบริษัทโฆษณาทั่วไปอย่างไรบ้างทั้งเรื่องการทำงานและรูปแบบงาน

A: เรื่องทั่วไปไม่ได้แตกต่างจากบริษัทโฆษณาปกติ เราจะรับทำงาน commercial แบบที่เราเคยรับทำงานกันมา คือจุดหนึ่งตอนที่ทำอยู่เอเจนซี่ เราอาจจะเลือกธุรกิจหรือเลือกลูกค้าไม่ได้ ความที่มันเป็นมืออาชีพ หน้าที่ของเราคือสร้างโฆษณาให้กับลูกค้า แต่เราจะเริ่มร้อนละเวลาที่ต้องทำโฆษณาแบบโกหก มันเหมือนติดตัวเรามาตลอด แล้วก็จะมีธุรกิจบางประเภทที่เรารู้ว่ามันทำร้ายสังคม คือเรารู้อยู่แล้ว แต่เราต้องนำเสนออะไรดีๆ เพื่อกลบเกลื่อนความไม่ดี ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราเริ่มอยากจะมีเงื่อนไข พอมาทำชูใจเราเลยเลือกเดินสายกลาง และมีเงื่อนไขในการรับงานแต่ละชิ้นมากขึ้นว่ามันจะต้องเป็น good goods คือต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อสังคมหน่อย ข้อมูลที่บอกกับผู้บริโภคต้องไม่หลอก ถ้าคุณจะขายว่าสินค้าตัวนี้ดีอย่างไร มันก็ต้องดีด้วยเหตุและผลของมันจริงๆ และต้องพิสูจน์ได้ด้วย เช่น ใส่จุลินทร์ทรีย์ตัวนี้ในผลิตภัณฑ์นะ ก็ต้องใส่จริงๆ มันก็เหมือนกับว่ามีเรื่องของจิตสำนึกมากขึ้น มองเห็นประโยชน์ภาพรวมมากขึ้น มากกว่าส่วนตัว

อีกจุดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากทั่วไปคือ ตัวเลขที่ต้องทำ เอเจนซี่ปรกติจะต้องกระเตื้องขึ้นไปทุกปี ปีนี้ 10 บาท ปีหน้าจะไม่ใช่ 10 บาทล่ะ เป็น 20 บาท เป็น growth ที่ต้องขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงนั้นมันไม่มีวันจบนะครับ มันต้องมีสิ่งที่แลกไปอีกเยอะ เราก็ตัดทอนเอาที่มันจำเป็นที่สุด ซึ่งหลักการของชูใจก็คือเมื่อเราหา commercial เพื่อตอบเงื่อนไขทั้งเรื่องตัวเลขและเวลาของ 5 คน ทำให้พอมีเงินดำรงชีวิตและจัดสรรเวลาให้ไม่กินพื้นที่ชีวิตแต่ละคนมากเกินไปได้แล้ว เราก็หยุด หยุดเสร็จเราก็เอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่นที่ช่วยสังคมได้ด้วย คืองาน commercial เรายังรักษาระดับให้ดีนะครับ เราไม่ได้ทิ้ง แต่จะมาโฟกัสเรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้มากและชัดเจนขึ้น

ป๋อม ไชยพร (ป๋อม)

Q: แล้วคุณนำทักษะในเชิงสร้างสรรค์ไปช่วยในลักษณะใดบ้าง

A: ส่วนใหญ่เราจะเข้าไปดูงานเบื้องหลังครับ เช่น กลุ่ม NGO ต่างๆ ที่เขาต้องการคนช่วยคิดมีเยอะมากนะ แต่มักจะติดปัญหาเรื่องทุน ซึ่งเราเข้าไปช่วยคิดเรื่องเนื้อหา คุณจะสังเกตได้ว่างานบางชิ้นมันไม่ดังเท่ากับเวลาที่มีเงินทุนอะไรเข้ามา ซึ่งการโฆษณาจะช่วยให้กลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมมีกำลังมากขึ้น เสียงดังมากขึ้น และนั่นก็เป็นหน้าที่ที่เราช่วยกันอยู่

ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ (เป้า)

Q: งานในเชิงสังคมที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหม

A: Mom Made Toys คืองานแรกและเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดชูใจในวันนี้ครับ โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นโปรเจ็กต์ของกลุ่มคุณแม่ที่ต้องการทำของเล่นให้ลูกพิการด้วยตัวเอง ซึ่งเขาไม่มีงบประมาณ เราก็เลยเข้าไปดูงานเบื้องหลัง คิด story ของ Mom Made Toys ทำเป็นโปรเจ็กต์ของบริจาค คุณแม่ก็ออกแบบ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ และเราก็ไปช่วยคิดว่าถ้าจะทำของเล่นให้เด็กกลุ่มนี้จะทำอะไรดี หลังจากโครงการนี้ถูกปล่อยออกไปก็มีคนเข้ามาร่วมบริจาค คุณแม่ก็นำทุนตรงนี้ไปทำของเล่นให้ลูกๆ แล้วก็เผื่อแผ่ส่งไปให้ทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Plan Toys ที่เขาอยากจะทำของเล่นให้เด็กๆ กลุ่มนี้อยู่แล้ว ทุนที่ได้ก็ผลิตของเล่นได้ประมาณ 1,000 ชิ้น ผลิตมาปีหนึ่งแล้ว แต่ติดน้ำท่วมจึงแจกได้แค่บางส่วน ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้กระจายออกไป แล้วตอนนี้เงินที่ได้ก็นำไปผลิตของหมดแล้ว ไม่มีเงินสดที่จะไปส่งของให้เด็ก เราเลยคิดต่อว่าช่วงปลายปีนี้จะมีโครงการ ‘ซานต้าอาสา’ ที่จะชวนคนไปเที่ยว คนที่ออกต่างจังหวัด คนกลับบ้าน ช่วยนำของเล่นเหล่านี้ไปส่งให้เด็กๆ เรากำลังรวบรวมพื้นที่อยู่ ถ้าใครสนใจ สามารถมาช่วยได้นะครับคุณจะไปเที่ยวไหนคุณมาแจ้งเราได้เลย (หัวเราะ)

Mom Made Toys

Mom Made Toys

ของเล่นที่ออกแบบมาสำหรับเด็กออทิสติก

ของเล่นที่ออกแบบมาสำหรับเด็กพิการทางสายตา

Q: นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อสังคมด้านอื่นๆ อีกไหม
A: พอจบ Mom Made Toys แล้ว ก็จะเป็นช่วงน้ำท่วมใหญ่ (ปี 2554) พอดี ซึ่งโปรเจ็กต์นั้นเป็นเรื่องของการเตรียมตัวเรื่องภัยภายนอก เช่น เตรียมน้ำจะเข้าบ้านต้องทำอย่างไร ทีนี้ทาง สสส. เขาก็อยากทำสื่อสำหรับการเตรียมตัวในแง่ของจิตใจเราก็มีโอกาสได้เข้าไปทำ เป็นช่วงที่รอน้ำมา เราก็นำเสนอ solution ในการบำบัดจิตใจเวลาที่คุณเครียดกับน้ำท่วม ก็ชวนพี่ต่าย ขายหัวเราะ มาเขียนเป็นเอนิเมชั่นออกมา แล้วเชิญพี่ตา ปัญญา มาอ่านให้ แล้วก็ทำสปอตกัน ซึ่งได้รับฟีดแบคที่ดีพอสมควร

หลังจากนั้นเราเริ่มทำงานกับ Greenpeace ที่ต้องการจะพูดเรื่องการใช้พลังงานสะอาดอย่างโซล่าเซลล์จากอุจจาระคนและหมู โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่ใช้อยู่ทั้งจากถ่านหินหรือนิวเคลียร์ เขาจัดคอนเสิร์ตใหญ่เราก็ไปช่วย ไปทำดนตรีเปิดหมวกโดยคนตาบอด ซึ่งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ จัดวันอาทิตย์ บนถนนพระอาทิตย์ แล้วตามมาด้วยวงดนตรี ETC มาเล่นโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากเศษอาหาร แล้วก็มีสแตมป์เล่นด้วยพลังงานไฟฟ้าจากอุจจาระคน สแตมป์นั่งเล่นอยู่บนโถส้วมที่สยาม แล้วก็แจกลายเซ็นต์บนชักโครก โครงการนี้ไม่ได้จัดเพื่อขอเงินบริจาคนะครับ แต่ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่าพลังงานเหล่านี้ให้ศักยภาพได้เท่าเดิม แล้วเขาก็เอารายชื่อคนที่เห็นด้วยไปผลักดันให้เป็นกฎหมาย

มหกรรมดนตรี ศิลปะ การแสดง ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

Q: กับการทำงานที่ผ่านมา คุณเจออุปสรรคในการทำงานร่วมกับสังคมบ้างไหม และแก้ไขปัญหาอย่างไร

A: ถึงแม้ปัญหาหลักๆ จะเป็นเรื่องงบประมาณที่ไม่ได้มีมากมายในทุกๆ โครงการ แต่เมื่อเราทำ เรามุ่งไปที่ประโยชน์ของสังคม ของคนส่วนรวม มันก็มีสิ่งที่ดีเข้ามา คือเราจะได้รับความช่วยเหลือตลอด เพราะทุกโครงการมันไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อส่วนรวมจริงๆ แล้วการที่เราจะเอ่ยปากชวนให้ใครมาช่วย มันเอ่ยได้เต็มปากเต็มคำ แม้กระทั่งนักข่าว หรือคนจากที่ต่างๆ ซึ่งถ้ามันจะมีราคา มันจะเป็นราคาในเรทที่ไม่ปกติ สามารถพูดคุยต่อรองกันได้ ซึ่งนั่นก็เป็นข้อดี เราขอความช่วยเหลือบ่อยจนเครดิตหมดแล้วฮะทุกวันนี้ ไม่มีเพื่อนคบละ connection ที่สั่งสมมาสิบกว่าปีหมดแล้วในจ๊อบหนึ่ง (หัวเราะ) แต่ทุกคนเต็มใจครับ ถ้าเรื่องอื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องการ deal งาน เพราะสมาชิกเราไม่ได้มีมาก ต้องจัดการเองทั้งหมดทุกรายละเอียด แต่ข้อดีที่ตามมา คือ โลกเรากว้างขึ้น รู้จักคนเยอะขึ้น ลูกค้าเปลี่ยนไปหมด แล้วก็ได้รู้ว่า คนดีๆ ในสังคมมีอีกเยอะมาก

ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ (เม้ง)

Q: ในการทำงานแต่ละโครงการ คุณได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรใดบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ ความรู้ และข้อมูล

A : ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการขอความช่วยเหลือ ซึ่งถ้าคนต้นคิดตัดสินใจแล้วว่าจะทำ ทีนี้มันจะไปของมันต่อเองว่า ถ้าทำต้องทำอย่างไรที่จะผลักดันให้โครงการมันเป็นไปได้ มันต้องมีเงินทุนใช่ไหม เราก็เริ่มเดินสายเอา presentation เข้าไปเสนอ แล้วคนที่อยากช่วยเขาจะรวมตังค์มา พอครบพันหนึ่งแล้วนะที่ต้องใช้ โครงการก็ดำเนินต่อไปได้ จริงๆ แล้วในสังคม ยังมีคนใจดีอีกเยอะเลย เพียงแต่เราต้องแชร์ว่าเรากำลังจะทำอะไร มันช่วยส่วนร่วมได้อย่างไร ให้มีคนมาร่วมกับเราหน่อย ดังนั้นมันจะเป็นการเดินเข้าไปหาคนนี้นะ เราอยากให้มีการกระจายข่าวเชิญชวน เราต้องเดินไปหาสื่อ แน่นอนว่า พอมันคือสิ่งดีๆ ไม่ได้เข้าไปขอสตางค์เขาเพื่อโฆษณาขายของ แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ทุกคนก็พร้อมช่วย

บุญชัย สุขสุริยะโยธิน (ยอด)

Q: บทบาทหน้าที่ของงานสร้างสรรค์และคนทำงานสร้างสรรค์สามารถช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร

A: แต่ละโจทย์ แต่ละโครงการจะมีจุดมุ่งหมาย มีผลประโยชน์ต่อสังคมในตัวมันอยู่แล้ว อย่างเช่นโครงการของสภากาชาดที่ให้เราเข้ามาช่วย คือ อยากให้คนไทยหันมาบริจาคเลือดเป็นประจำไม่ใช่เฉพาะวิกฤตการณ์ ซึ่งถ้าเราทำแล้วสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสร้างความเข้าใจใหม่ได้ นั่นก็ถือเป็นการช่วยแล้ว อย่างน้อยๆ ปีหน้าอาจจะไม่ต้องมีคุณสรยุทธ์ออกมาพูดว่าเลือดหมดคลัง ซึ่งนั่นก็เป็นผลที่เกิดขึ้น

สิ่งที่มากกว่านั้นก็คือ พวกเราตั้งชูใจขึ้นส่วนหนึ่งเราอยากให้มันเป็นแรงบันดาลใจ เป็นโมเดล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าเราใช้มันสมองที่เรามีอยู่มาแชร์กับสังคมตรงนี้ไปพร้อมๆ กับการทำมาหากินแล้วเราอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้มันก็เหมือนงานโฆษณาชิ้นหนึ่งที่ให้คนเห็นว่า เฮ้ยทำได้นะ มันจะกลายเป็นเชื้อต่อไปยังคนอื่นๆ อย่างน้องที่มาฝึกงานกับเรา เขาอาจจะได้แนวคิดซึ่งท้ายที่สุดเขาอาจจะไม่ได้ทำในสายโฆษณาก็ได้ อาจจะเปิดร้านค้า ขายของ เป็น SME ที่เลี้ยงชีพได้ด้วยและช่วยสังคมได้วย นั่นเป็นในมุมของสร้างสรรค์นะครับ แต่พวกผมคิดว่าในแง่ของปัจเจกบุคคล คนทุกคนสามารถทำดีทั้งหมดได้ เพียงแต่เราคิดถึงผลกระทบจากสิ่งที่เราทำมันคืออะไร เลิกมองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่ให้มองภาพรวม พวกเราว่าทุกคนก็ช่วยได้หมด

Q: ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ให้อะไรกับคุณบ้าง

A: ชูใจทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ถ้าคุณอยากทำอะไรให้รีบทำ แน่นอนว่าในใจพวกผมก็อยากให้ชูใจยั่งยืนแต่ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ได้ทำแล้ว ไม่อย่างนั้น ถ้าเราทำงานไปจนเกษียณถึงอายุ 55 แล้วมานั่งนึกย้อนว่าเคยอยากทำแบบนี้นะ แต่ไม่ได้ทำ มันอาจจะเสียดาย แต่ตอนนี้ที่รู้ก็คือว่าสบายใจแล้ว ได้ลองครบแล้ว ลองในฐานะที่เป็นนักสร้างสรรค์แล้วก็ทำมัน ทำมาทุกด้านแล้ว ทำแบบสุดขั้ว ทำแบบล่ารางวัล ทำแบบนักโฆษณาที่แบบเปลือกจริงๆ อันนี้อีกด้านหนึ่งดูซิเป็นอย่างไร ชีวิตของครีเอทีฟถ้าจะจำกัดความสั้นๆ เราใช้ชีวิตแบบ what if  มาตลอดเวลาทำงาน คือมันจะคาใจอยู่ตลอดว่ามันจะเป็นอย่างไร ทำไมเป็นแบบนี้ ถ้าลองทำแบบนี้มันจะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะคิดแบบ what if ไปเรื่อยๆ ซึ่งการทำชูใจมัน what if ในชีวิตจริง ที่เราลงมือทำแล้ว ได้ทำแล้ว ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามกันแล้วว่ามันจะเจ๊งไหม จะไปได้มั้ยกับโมเดลแบบนี้ เราไม่อยากมานั่งเสียดาย สำหรับเราสำเร็จหรือไม่ มันก็ win แล้ว ถ้าสำเร็จ คนที่เขาจะมาทำแบบเดียวกับเราเขาก็จะเห็นว่าทีมนี้เคยรอดมาแล้วนะ หรือถ้าไม่สำเร็จคนที่เขาจะมาทำแบบเราบ้างก็จะได้เห็นข้อเสีย อีกหน่อยถ้าจะมีอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นจะต้องปรับปรุงตรงไหน เราต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม วัดจากที่เรียนรู้มาปีหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เราอยากทำให้ชูใจเป็นเหมือนนามธรรมที่รวมตัวเพื่อมาทำอะไรดีๆ ด้วยกัน วันหนึ่งถ้าตัวออฟฟิศไม่มีแล้วแต่ว่าแนวคิดมันยังคงอยู่

Q: หลังจากที่ได้ทำมาประมาณเกือบปี แต่ละคนเรียนรู้อะไรจากงานเพื่อสังคมบ้าง

A: ตอนแรกที่โดดกันมาทำ สิ่งแรกที่กลัวคือเรื่องตัวเลข ทำอย่างไรจะรอด (หัวเราะ) แต่พอทำไปได้สักเดือนสองเดือนงานก็มาของมันเรื่อยๆ ไม่อยากจะคิดว่าทำดีได้ดีนะ แต่มันกำลังเป็นแบบนั้นอยู่นะตอนนี้ ถึงแม้มันจะไม่ใช่เงินแบบเป็นกอบเป็นกำเหมือนที่เราทำอยู่เอเจนซี่ แต่ว่ามันก็เข้ามาให้เราชื่นใจ ข้อแตกต่าง ถ้าเทียบกับ 7 ปีที่ทำงานมา โอกาสจะได้ทำงานร่วมกับคนจิตใจดี ลูกค้าดีๆ หมายถึงจิตใจดีๆ นะ นับหัวได้เลย แต่พอมาทำชูใจได้ครึ่งปีเนี่ยผมว่าแทบจะ 90% เป็นลูกค้าดีหมดเลย คือ เขาคิดอะไรดีๆ และทำให้รู้ว่ามีคนที่จิตใจดีในสังคมอีกมากเลย เหมือนทุกๆ อย่างเขาพยุงกัน ช่วยเหลือกัน ทำหน้าที่ของแต่ละคนแต่ก็สามารถที่จะพึ่งพากันได้ แล้วมันก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่าการทำดีมันสามารถอยู่รอดในสังคมได้ ซึ่งตรงนี้พวกผมว่า มันเป็นเรื่องประหลาดมาก มันพาเราไปเจอคนที่ทำ commercial ที่จิตใจดี มันพาเราไปเจอพ่อค้าที่ใจดี ไปเจอ supplier ที่แบบคิดสตางค์เราเท่านี้เองเหรอ ไปเจอกับกราฟิกดีไซเนอร์ที่เพิ่มตังค์ให้ แต่ไม่เอา มันเหมือนเจอสังคมใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมา 7 ปี ซึ่งตลอด 7 ปี เจอแต่สิ่งที่เค้าจะเอาเข้าตัวเอง เดี๋ยวนี้เราไม่ได้เจอแล้ว มันมีความสุข

Q: อนาคตของชูใจจะเป็นอย่างไรต่อไป

A: ถ้าระยะยาวเราไม่ได้คาดการณ์อะไรมาก มีแผนเป็นแค่ระยะสั้นๆ เคยคุยเล่นๆ ว่าตอนนี้แพลนของชูใจคือไม่มีแพลนนะจริงๆ อย่างปีหน้าเราก็ยังไม่ได้คุยกันเลยว่ามันจะอย่างไร แต่งานก็เริ่มๆ ทยอยมาแล้ว แต่อนาคตถ้าจะให้ดีที่สุดคือชูใจอยากมีโอกาสเข้าไปดูแลด้าน CSR ในแต่ละแบรนด์ เพราะว่ามันจะเป็นส่วนที่ให้บริษัทต่างๆ นำเงินมาใช้เพื่อสังคม เราอยากเข้าไปช่วยให้เขานำเงินทุนมากระจายให้ทั่วถึง เช่น โปรดักนี้ทำนี้แล้ว ก็อย่าไปทำซ้ำกับเขา ทำผลิตภัณฑ์นี้สิมัน effective กว่า ถ้าได้ทำจะดีมากๆ เพราะตรงนั้นเป็นข้อดีของทุนนิยมที่จะมาแบ่งปันกับสังคมบ้าง

 

อ้างอิง: Choojai
ภาพโดย เกตน์สิรี วงศ์วาร