‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ สานฝัน สร้างชุมชน จากภาพถ่าย ‘สห + ภาพ’

จากความหลงใหลในการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพถ่ายในรูปแบบ Photojournalist (ภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์จริง โดยไม่มีการจัดฉาก) จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ นักเขียน และช่างภาพอิสระ จึงได้ชักชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายในแวดวงการถ่ายภาพ อาทิ คุณเกรียงไกร ไวยกิจ คุณธีรภาพ โลหิตกุล และคุณเพ็ญพัฒน์ มรกตวิศิษฏ์ ร่วมมือกันจัดตั้ง ชุมชนฅนถ่่ายภาพในนาม ‘สห + ภาพ’ เพื่อสร้างคุณค่าของ ‘ภาพ 1 ภาพ’ ให้มีคุณค่ามากกว่าการบันทึกเหตุการณ์ แต่เป็นการผลักดัน ‘ภาพถ่าย’ ให้มีคุณค่าเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

Q : ‘สห + ภาพ’ คืออะไร และมีแนวคิดในการขับเคลื่อนภาคสังคมจากภาพถ่ายอย่างไร

A : หลายท่านอาจจะไม่รู้ว่า ช่างภาพคนไทยมีประสบการณ์ที่ดี และมีมุมมองในการถ่ายภาพที่ดีเยี่ยม หลายท่านคว้ารางวัลระดับสากลมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกวดเวทีไหนก็จะต้องมีชื่อคนไทยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมทุกครั้ง แต่สังคมของช่างภาพกลับไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญมากนัก อีกทั้งเรายังขาดหน่วยงาน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวมความสามารถของช่างภาพเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลนี้เพื่อนๆในกลุ่มรวมหัวกันจัดตั้ง ‘สห + ภาพ’ เพื่อเป็น ‘ที่ยืน’ ให้กับช่างภาพ โดยมีแนวคิดที่จะถ่ายทอดภาพในแนว Photojournalist สะท้อนความจริงของสังคมอย่างสร้างสรรค์ และปรากฏบทบาทที่ชัดเจนกับสังคม

Q : จุดเริ่มต้นของ ‘สห + ภาพ’ ในการทำงานภาคสังคม เริ่มจากจุดไหน และเสียงตอบรับจากภาคสังคมเป็นอย่างไร

A : เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551) ทางกลุ่มได้รวมรวมภาพถ่ายจากช่างภาพ 21 ท่าน โดยตั้งโจทย์ ‘ตลาด’ เป็นหัวข้อแรก สาเหตุที่เลือก ‘ตลาด’ มาเป็นตัวเปิดโครงการ ก็เพราะ ‘ตลาด’ มีความหมายในเชิงชุมชนและสังคม แม้รูปแบบของตลาดทั้งในหรือต่างประเทศจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันบ้าง แต่ตลาดก็เปรียบเสมือนกับการเชื่อมต่อผู้คนในชุมชน หรือสังคมนั้นๆ ในเบื้องต้น เราได้ให้ช่างภาพไปหาภาพที่ตนเองมีอยู่ จากนั้นทำการรวบรวมภาพต่างๆ เหล่านั้นมาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายภายใต้ชื่อ ‘ตลาดยังไม่วาย’ โดยจัดแสดงครั้งแรกที่ ตลาดร้อยปีสามชุก ซึ่งเป็นการจัดแสดงภาพถ่าย ‘ตลาด’ ในตลาดที่เก่าแก่ ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่มุมมองของตลาดที่แตกต่าง แต่เป็นการสร้าง ‘ความภูมิใจ’ ในอาชีพที่คนในท้องถิ่นทำกันอยู่ บ้างก็พูดว่า “ดูซิ! ประเทศนั้นตั้งร้านขายของเหมือนเราเลย” บ้างก็เห็นว่า เขายังขายไก่แบบซื้อขายเป็นตัวๆ อยู่เลย ความภูมิใจที่เกิดขึ้นนี้แหละที่ทำให้นิทรรศการครั้งนี้ ‘ได้ใจ’ ไปเยอะ

Q : จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ‘สห + ภาพ’ เดินทางมาถึงวันนี้เกิดจากจุดไหน

A: ในปี พ.ศ. 2552 ทีมงานได้เดินทางไปจังหวัดน่าน และได้พบกับคุณวีรวิทย์ วิวัฒนาวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในสมัยนั้น ท่านพูดว่า “ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยวเมืองน่านเลย ผมอยากให้น่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์” ด้วยแนวคิดนี้ เปรียบเสมือนกับตัวจุดประกายที่ทำให้ทีมงานตัดสินใจทำโครงการภาพถ่ายเสนอจังหวัด โดยให้ ‘ภาพ’ ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวเล่าตำนานของจังหวัดน่าน ในครั้งนั้นได้ระดมช่างภาพกว่า 50 ชีวิต เดินทางไปทุกพื้นที่ของจังหวัด และใช้เวลา 3 วันในการบันทึกภาพ จากนั้นทำการคัดเลือกภาพ แล้วพิมพ์เพื่อจัดแสดงนิทรรศการในวันรุ่งขึ้น ภายใต้ชื่อ ‘น่านนิรันดร์ 100 ภาพฝัน บันทึกแผ่นดิน’ ซึ่งภาพที่ปรากฏไม่ใช่มีเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างวัดภูมินทร์เท่านั้น แต่ยังมีภาพอีกหลากหลายที่แสดงถึงวิถีชีวิต และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มากมายในตัวจังหวัด และโครงการนี้ถือว่าเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญที่ทำให้จังหวัดน่านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กลายเป็นจุดหหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากสัมผัส และทำให้ภาคสังคมเห็นความสำคัญของ ‘ภาพถ่าย’ ที่มีมากกว่าความสวยงาม แต่ยังสานคุณค่าสร้างประโยชน์ให้กับภาคสังคม

หลังจากความสำเร็จของโครงการนี้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอด จากการร้อยเรียงภาพถ่ายของจังหวัดสู่การเรียงร้อยอมตธรรมคำสอนควบคู่ไปกับภาพถ่าย จัดทำเป็นหนังสือภาพ ‘พิศเจริญ’ (Pictorial Photographs) เล่ม 1 และ เล่ม 2 ในวาระ 100 ปี ชาตกาลหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ และ 105 ปี ชาตกาลท่านพระพุทธทาสภิกขุ ผลลัพธ์ที่ได้ดีเกินคาด เพราะหนังสือสามารถขายหมดอย่างรวดเร็ว และขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง Best Seller ในร้านสะดวกซื้อ 7-11 นอกจากนี้ ‘สห + ภาพ’ ยังจัดนิทรรศการภาพถ่าย ‘น้ำใต้ น้ำตา น้ำใจ’ โดยรวบรวมภาพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ กรุงชิง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในงานนี้สามารถระดมเงินช่วยเหลือและส่งต่อถึงผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญช่างภาพที่ไปเก็บภาพยังไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ผู้บันทึกเหตุการณ์แต่ยังทำหน้าที่หน่วยกู้ภัยในการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนด้วย

Q : การทำงานในภาคสังคมมักจะเกิดอุปสรรคหรือปัญหามากมาย อะไรเป็นอุปสรรคหลักของ ‘สห + ภาพ’ และคุณจิระนันท์เดินก้าวข้ามอุปสรรคนั้นๆ อย่างไร

A : เรามีแรงงานดี ฝีมือดี และใจที่แกร่ง ซึ่งทำให้การทำงานในส่วนของการถ่ายภาพหมดปัญหา แต่สิ่งที่ทีมงานขาดก็คือประสบการณ์ทางด้าน ‘การบริหารจัดการ’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปั้นโครงการให้เกิด โดยเฉพาะการทำงานกับทางภาครัฐ ซึ่งมีขั้นตอนการยื่นโครงการพร้อมเอกสารมากมาย ทำให้การทำงานในเบื้องต้นไม่สะดวกมากนัก แต่ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เวลา และเราจะต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละขั้น ซึ่งปัจจุบันทีมงานเริ่มเข้าใจระบบการทำงานมากขึ้น ถามว่าท้อมั้ย ก็คงตอบว่า ‘ท้อบ้าง’ แต่เนื่องจากเป็นคนขี้ลืม พอตื่นนอนขึ้นมาก็ลืมไปล่ะ แล้วมุ่งหน้าทำงานขับเคลื่อนต่อไป อย่าลืมว่า จุดหมายมีไว้ให้เราเดินไปถึง แต่สิ่งสำคัญคือ ‘เราจะเดินอย่างไร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายนั้น’

Q : ในสังคมไทย มีหลายท่านที่อยากทำงานภาคสังคม แต่พอเริ่มต้นก็มักจะเกิดปัญหา บ้างไม่กล้าทำ บ้างพับโครงการไป โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ อยากให้คุณจิระนันท์ฝากแนวคิดและเป็นกำลังใจเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนให้กับคนกลุ่มนี้หน่อยครับ

A : ก่อนอื่นเลย ทุกคนต้องวางเป้าหมายของตนเองอย่างชัดเจน การวางเป้าหมายไม่ได้หมายความว่า เราจะทำชื่อเสียงโด่งดังให้เหมือนกับคนอื่น แต่เป้าหมายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความพอดี’ โดยดูจากศักยภาพของตัวเอง ที่สำคัญจะต้องมีความ ‘กล้า’ ที่จะทุ่มเทในการทำงาน และความ ‘กร้าน’ ที่จะยึดมั่นในแนวคิดดีๆ อันเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันให้ตนเองประสบความสำเร็จ

‘ภาพ 1 ภาพ’ อาจทำหน้าที่บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข ภาพบางภาพอาจบันทึกความทรงจำในอดีต และภาพบางภาพอาจบันทึกช่วงเวลาแห่งความเศร้า แต่สำหรับคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา หนึ่งภาพที่ถูกลั่นชัตเตอร์ หนึ่งเหตุการณ์ที่ถูกบันทึก ไม่ได้ทำหน้าที่เก็บความทรงจำเพียงเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ ณ เวลานั้นเข้าไปด้วย และนี่คือ ‘สห + ภาพ’ ชุมชนฅนถ่ายภาพที่สร้างสรรค์สังคมจากภาพถ่าย จากอาชีพที่หลายคนมองข้าม ให้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และล่าสุดกับโครงการที่กำลังร่วมมือกับทางจังหวัดหนองคาย ในการผลักดันให้จังหวัดแห่งนี้ให้เป็นมากกว่า ‘ทางผ่าน’

ขอขอบคุณรอยยิ้มงามๆ ที่คุณจิระนันท์ มอบให้กับทีมงานตั้งแต่ครั้งแรกที่พบตลอดจนจบการสัมภาษณ์ จนผมอดพูดกับตัวเองไม่ได้ว่า “นี่แหละ !!! รอยยิ้มของบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคม มันช่างดูมีความสุขมากกว่ารอยยิ้มที่ผมเคยพบเห็น” ขอบคุณมากๆ ครับ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ ‘สห + ภาพ’ ได้ทางที่เว็บไซต์ www.fotounited.net หรือทาง www.facebook.com/fotounited
ภาพ : Pasin Tamm Auttayatamavitaya, ภาพบางส่วนจาก สห + ภาพ