‘พื้นที่รวมตัวของผู้ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง’ นิยามสั้นๆ ที่ทำให้เราพอเห็นภาพลางๆ ของสเปซสำหรับคนทำงานใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง ‘มาดี’ (Ma:D) ที่ ปรีห์กมล จันทรนิจกร (กิ๊ฟท์), สกลฤทธิ์ จันทร์พุ่ม (เก่ง) และ ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ (ธี) ตั้งใจให้ทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการสังคมและผู้สนใจประเด็นสังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พบปะแลกเปลี่ยนกับคนที่คิดคล้ายๆ กัน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในทุกรูปแบบ วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ปรีห์กมล หรือคุณกิ๊ฟท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งถึงที่มาที่ไป รูปแบบการดำเนินการ และกิจกรรมของการสุมหัวเพื่อสร้างการผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมกลุ่มนี้ว่าพวกเขา ‘มาดี’ กันอย่างไร
Q: อยากให้คุณกิ๊ฟท์เล่าถึงแบคกราวน์ด้านการศึกษา การทำงาน และความสนใจของประเด็นด้านสังคมให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
A: ตอนเด็กๆ เราลองทำหลายอย่างมาก ชอบลองทุกอย่างที่ไม่เคยทำ ส่วนใหญ่จะเลือกไปลองทำอะไรที่เกี่ยวกับด้านสังคม ทำให้เริ่มรู้บ้างว่าเราชอบด้านนี้นะแต่ก็ยังไม่ได้ชัดมาก ทีนี้พอเข้ามาเรียนเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เราลองร่วมประกวดแผนธุรกิจ ใช้เวลาและพลังทั้งหมดเพื่อตอบคำถามเดียวเลยว่า ‘ทำอย่างไรให้ขายได้มากที่สุด ได้ margin มากที่สุด’ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่ ตอนเรียนกิ๊ฟท์จึงเลือกเรียนเน้นหนักไปทางสายเศรษฐศาสตร์พัฒนา มีโอกาสได้ไปลงพื้นที่บ่อยๆ ไปเจอชาวบ้านหลายพื้นที่ ได้ทำค่าย ก็ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่เลยว่าใจมาด้านสังคมแน่ๆ ตอนนั้นเราก็รู้แค่ว่าอาชีพมันมีแค่ 2 ด้าน ด้านที่เป็นธุรกิจที่เราเรียนมาว่ามันทำเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดและงานด้านสังคมที่พึ่งพาเงินบริจาค แต่ตอนใกล้จบก็มีการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราจะทำด้านสังคม เราจะดูแลทางบ้านอย่างไร บังเอิญได้ไปรู้จักกับคำที่เรียกว่า Social Enterprise (SE) หรือกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายทางสังคมชัดเจน แต่วิธีดำเนินการต้องมีโมเดลการหารายได้เพื่อความยั่งยืนทางการเงิน ก็เลยรู้สึกสนใจว่านี่ล่ะคำตอบของชีวิต – มันใช่ งานแรกไปทำที่ ChangeFusion ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันเรื่องกิจการเพื่อสังคมเพื่อเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น มีช่วงที่ลองพยายามจะทำ SE ของตัวเองแล้วก็พบว่ายากมาก เพราะเราจบไม่นาน ไม่รู้จักใครเลย ไม่มีข้อมูล ทำธุรกิจไม่เป็นไม่เข้าใจ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ส่งแผนเข้าประกวดก็ตกไป ตอนนั้นก็เลยล้มเลิกไป หลังจากนั้นก็ทำงานด้านสังคมมาตลอด
Q: แล้วหน้าที่ของคุณกิ๊ฟท์ใน ChangeFusion ส่งผลต่อการทำพื้นที่ Ma:D บ้างไหม?
A: มีผลนะคะ เพราะตอนทำ ChangeFusion กิ๊ฟท์ได้เรียนรู้จากงานที่หลากหลาย เช่น งานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายในประเด็นต่างๆ งานสื่อสารทางสังคม งานประสานและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น เป็นคนประสานงานเรื่องศูนย์ความร่วมมือภัยพิบัติช่วงที่มีน้ำท่วม ได้ทำงานกับทั้งภาคเอกชน กับพื้นที่ กับรัฐบาล และหลายๆ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งทำให้เราเห็นอะไรกว้างขึ้นมากและเข้าใจในความหลากหลายที่เอื้อต่อการร่วมมือกัน มีช่วงหนึ่งที่ ChangeFusion จะตั้ง co-working space ชื่อ The SYNC เห็นตั้งแต่กระบวนการที่มีการชวนคนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาคุยกัน ให้คนมาแชร์ความฝันของตัวเอง แชร์ในสิ่งที่อยากทำ กิ๊ฟท์เลยเริ่มเห็นว่าการที่มีพื้นที่แล้วคนหลากหลายมาแชร์กันด้วยเป้าหมายเดียวกันมันดีจังเลย คือกิ๊ฟท์ไม่ได้ดูโปรเจ็กต์นั้นโดยตรง แต่ก็หาเวลาเข้ากระบวนการทุกครั้งเพราะรู้สึกแฮปปี้ที่ได้แบ่งปันและเรียนรู้จากทุกคน เรียกได้ว่าเป็นการจุดประกายไว้ในใจตั้งแต่ตอนนั้น
Q: ที่มาที่ไปของ Ma:D เกิดขึ้นได้อย่างไร?
A: มีช่วงที่กิ๊ฟท์ต้องกลับไปช่วยดูแลกิจการที่บ้าน ได้เข้าใจเรื่องการแลกเปลี่ยนคุณค่ามากขึ้น เรามีสินค้าที่ลูกค้าต้องการ แลกเปลี่ยนกลับมาเป็นตัวเงิน มีกำไรให้พอหมุนเวียนเพื่อให้ทำกิจการต่อไปได้ มันก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด ช่วงนั้นแบ่งเวลาไปร่วมงานด้าน SE ที่ สกส. (สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) และเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านธุรกิจอีก 6 เดือน ซึ่งความโชคดีก็คือเรามีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารที่ทำธุรกิจใหญ่ๆ ได้เรียนรู้แนวคิดทางธุรกิจ และตกผลึกได้ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรที่ดีและไม่ดี อย่างฝั่งธุรกิจ เขาอาจจะมีเป้าหมายหลักคือผลกำไร แต่แง่ดีก็คือเขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง แล้วธุรกิจดีๆ ก็สามารถสร้างผลในเชิงบวกให้กับสังคมได้เยอะเหมือนกัน เราก็เริ่มเรียนรู้และเปิดใจมากขึ้น ซึ่งพอทำนิตยสารไปสักพักก็รู้สึกว่าถึงเวลาตามฝันที่เก็บไว้ในใจตลอด ก็เลยชวนเพื่อนๆ สุมหัวกัน แล้วก็มาเปิด Ma:D จากความรู้สึกทั้งหมดตั้งแต่ที่เรียนมา เราอยากทำ SE ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว แต่เริ่มไม่ได้ ก็เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ที่สามารถให้คนที่อยากทำงานด้านสังคมมาเจอกัน นอกจากพวกเขาจะได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ความคิด รวมถึงทัศนคติระหว่างกันได้แล้ว มันก็ยังทำให้เราสามารถช่วยเหลือกัน ดึง resources ที่เหมาะสมกับแต่ละคนกับแต่ละกลุ่มให้มาเจอกันตรงนี้ได้ เพื่อให้เขาสามารถเริ่มต้นสิ่งที่เขาอยากทำได้ นี่คือที่มาของ Ma:D
Q: แนวคิดและจุดประสงค์ของ Ma:D แตกต่างจาก co-working space ที่อื่นอย่างไร?
A: ต่างกันเยอะมากค่ะ จริงๆ ตอนนี้ Ma:D เองก็ไม่ได้วางตัวเองว่าเป็น co-working space แล้ว ความตั้งใจแรกคืออยากให้มีพื้นที่ที่คนที่คิดเหมือนๆ กันคือเรื่องการสร้างสิ่งดีๆ ในสังคมได้มาเจอกัน แล้วก็อยากให้คนที่อยากเริ่มต้นทำ SE สามารถเริ่มต้นได้ เราอยู่ที่นี่เสมอ เป็นชุมชนของคนที่ฝันแบบนี้ การวางบทบาทของตัวเองว่าเป็นพื้นที่ ‘ทำงานร่วมกัน’ อาจจะไม่ตรงมากขนาดนั้น การทำงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่ง co-working space อื่นๆ เขาจะเน้นสำหรับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้นอยากทำธุรกิจและมองหาที่ทำงาน เพราะค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่จะถูกกว่าไปหาออฟฟิศเองและได้พบปะแลกเปลี่ยนกับคนจากกิจการอื่นๆ ที่ Ma:D พยายามสร้างให้ความเชื่อมโยงของผู้คน สร้างชุมชนที่คนได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขามีกันได้จริงๆ ช่วยกันได้จริงๆ โดยโฟกัสไปที่เรื่องสังคม ยกตัวอย่างนะคะ สมมติว่าคนสนใจเรื่องความยากจน มันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมองเรื่องความยากจนในมุมมองเดียวกันหมด เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน มาจากหลากหลายอาชีพ ทำให้มีมุมมองที่มองเรื่องเดียวกันต่างกัน พอเวลามาเจอกัน มันก็ยิ่งได้แลกเปลี่ยนกันได้อย่างลึกซึ้งขึ้น แล้วก็ช่วยกันได้มากขึ้นเพราะต่างคนต่างมีข้อมูลและทรัพยากรที่ต่างกัน
Ma:D ไม่ใช่เพียงสถานที่ทำงาน ความคาดหวังคืออยากให้ทุกคนทำเรื่องสังคมได้ในแบบของตัวเอง วงแรกสำหรับคนที่อินมาก อยากกระโดดมาแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็สามารถทำได้ก็คือมาเป็น SE คุณขาดอะไร Ma:D และชุมชนที่นี่ช่วยซัพพอร์ตอะไรได้บ้าง เราเชื่อมอะไรมาให้ได้บ้างเพื่อให้คุณเริ่มได้ วงที่ 2 ก็คือวงธุรกิจ ไม่ต้องกระโดดมาแก้ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมก็ได้ แค่ให้กระบวนการของเขาไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม พยายามลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลดีทางบวกต่อสังคม ก็คิดว่าจะช่วยสังคมได้มากถ้าภาคธุรกิจหันมาใส่ใจมากขึ้น วงที่ 3 ก็คือคนทั่วไป ใครก็ได้ สามารถปรับเปลี่ยนในเรื่องวิถีชีวิตแบบง่ายๆ โดยการสร้างความตระหนักว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ไปเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การแยกขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก พกขวดน้ำ แค่นี้ก็เปลี่ยนอะไรได้เยอะแล้ว Ma:D อยากสร้างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ อยากให้ทุกคนทำเรื่องสังคมได้ในแบบของตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย จริงๆ มันอยู่ในทุกวิถีชีวิตของเรา ซึ่งสิ่งนี้มันเลยไปไกลมากกว่าการสร้างพื้นที่ทำงานแล้ว
เพราะฉะนั้น มิชชั่นของเราก็เลยเป็น 2 ข้อ ข้อแรกก็คือการรองรับ SE ให้เกิดขึ้นได้ เช่น น้องๆ เพิ่งเรียนจบแล้วยังเริ่มไม่ได้ ก็สามารถมาลองคุยกันว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง และข้อสองก็คือสร้างเครือข่ายของคนที่สนใจงานด้านสังคมที่บอกไปทั้งสามวงให้แข็งแรง ผ่านกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ
Q: แล้วกิจกรรมที่ผ่านมาของ Ma:D มีอะไรบ้าง รวมถึงผลตอบรับหลังจากกิจกรรมเป็นอย่างไร?
A: ด้วยความที่เราเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ประมาณ 2 เดือน เราก็เลยเริ่มจากอีเว้นท์เพื่อสื่อสารเรื่องที่เราทำ และชวนทุกคนมาร่วมกัน แต่จะไม่ได้จัดเป็นอีเว้นท์ที่คนมาแล้วก็กลับไป เราก็ต้องมีโจทย์ว่าเราจะพูดอะไรในแต่ละครั้ง บางครั้งเกิดจากเราเห็นสิ่งที่คนมาปรึกษาแล้วเราเห็นว่าควรจัด เราก็จะไปติดต่อกับคนที่มีความรู้ด้านนั้นๆ มาให้ความรู้ บางครั้งเกิดจากคนมีความรู้คิดว่าเป็นประโยชน์แล้วอยากแชร์ ทุกครั้งเราจะต้องมีเป้าหมายของมัน อย่างที่ผ่านมา มีการจัดดูหนังกันเรื่อง No Impact Man เสร็จแล้วเราก็จะมีวงแลกเปลี่ยนกันต่อ ให้ทุกคนเขียนสิ่งที่เขาจะทำกันว่าสิ่งที่เราจะสร้างอิมแพคใน 7 วันนี้มีอะไรบ้าง แล้วก็จะมีบัดดี้คอยติดตามว่าทำได้จริงไหม มีการตั้งกรุ๊ปขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรื่องวิถีชีวิตที่ยั่งยืน คือเราจะสร้างอีเว้นท์ขึ้นมาเพื่อที่ให้คนที่สนใจประเด็นต่างๆ ได้มาเจอกัน โดยใน 1 เดือน เรามีเฉลี่ย 10 อีเว้นท์ขั้นต่ำ ที่ผ่านมีประเด็นต่างๆ เช่น microfinance, crowdfunding หรือการท่องเที่ยวชุมชน
เรายังมีโปรแกรมต่างๆ เพราะว่าคนทำ SE ก็เหมือนทำธุรกิจค่ะ มันไม่ได้ง่ายจริงๆ และส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีประเด็นสังคมที่อยากทำ ฉะนั้นเนี่ยฝั่งธุรกิจจะอ่อนมาก ก็เลยคิดว่าอันนี้สำคัญมากที่จะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็จะมีการจัดเวิร์คช็อปที่เสริมด้านนี้ เช่น การตลาด การตีมูลค่าธุรกิจ บัญชีภาษี เพื่อรองรับ SE โดยเฉพาะ
ส่วนที่ 3 ที่กำลังจะมีก็คือ mentor session เพื่อให้คำปรึกษาสำหรับคนทำ SE เพราะบางทีการไปฟังอีเว้นท์โอเคฟังแล้วชอบก็ได้ระดับหนึ่ง แต่บางทีก็ต้องการที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
นอกจากกิจกรรมทั้ง 3 ส่วนแล้ว ด้วยความที่เราเป็น hub คนที่สนใจเรื่อง SE จะมาเยี่ยมและติดต่อมามาก เรายังมีแผนที่จะช่วยโปรโมทและแนะนำ SE ต่างๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่เพิ่งเกิดใหม่ด้วยเพื่อสังคมได้ทำความรู้จักพวกเขาว่าทำอะไรกันอยู่บ้าง
Q: แล้วอย่างนี้สำหรับคนที่สนใจจะเข้ามาต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มต้นหรือเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบซึ่งมีทุนทรัพย์จำกัด Ma:D ช่วย support ตรงนี้บ้างไหม?
A: ณ โมเดลปัจจุบันตอนนี้ที่มีจะเป็นลักษณะของ membership เราจะทำเหมือนเป็นคลับ เป็นครอบครัว ถ้าคุณมาร่วมกับเรา ก็จะได้สิทธิพิเศษต่างๆ อันนี้จะอยู่ที่เดือนละ 1,950 บาทต่อคน สามารถนั่งทำงานได้ตลอดทุกวัน เข้า mentor session และเวิร์คช็อปได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใช้ห้องประชุมในราคาพิเศษ แต่ถ้ามาแบบเป็นวันๆ มานั่งทำงานหรือเข้าอีเว้นท์วันนั้นฟรีก็จะประมาณ 195 บาท/วัน แต่ต้องบอกว่าเรากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เปิดรับคนที่สนใจมาร่วมได้ บางกรณีก็มีสมาชิกครอบครัวมาดีที่มาใช้พื้นที่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่มาร่วมสร้างสรรค์และช่วยซัพพอร์ทพื้นที่มาดีในด้านอื่นๆ แทน
Q: นอกจากอีเว้นท์ที่เล่าเรื่องการฉายหนังแล้ว มีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกบ้างไหม?
A: อีเว้นท์ที่น่าสนใจมักเกิดจาก passion ที่จริงใจ มีน้องคนหนึ่งเขาอยากเริ่มทำ SE ของตัวเอง แล้วก็เพิ่งเรียนจบ แล้วเข้ามาอยู่ใน community เราดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ เองเพื่อให้เขามีโอกาสเข้ามาร่วม น้องเขาสนใจเรื่อง Cannes Lions เรื่องแคมเปญเพื่อสังคม ทีมมาดีก็มานั่งสุมหัวคุยกันกับน้องว่าเราจะทำฝันเขาให้เป็นจริงได้อย่างไร จะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง เบื้องต้นเลยเราก็เปิดพื้นที่เพื่อรวมคนที่สนใจเรื่องนี้เหมือนมากันมาเจอกันก่อนให้ต่อยอดกัน ก็เลยคิดกิจกรรม Cannes Lions For Good 2014 กันขึ้นมา ช่วยกันคุยไปคุยมาโยงไปโยงมามาจนไปเจอพี่แกละ ซึ่งเป็น Associate Creative Director ที่ Ogilvy ซึ่งไปได้รางวัลคานส์ 3 ปีซ้อนมาเป็นพิธีกรคู่ แล้วก็มาเปิดแคมเปญ มีการถกกัน มีการแบ่งกลุ่ม และระดมความคิดกันต่อว่ามีแคมเปญอะไรที่สามารถทำได้เลย ก็ได้หลายๆ ความคิดออกมา หลายคนก็ยังอินอยู่ว่ายังอยากทำต่อ ซึ่งความน่าสนใจก็คือหลังจากงานจบมีการตั้งกรุ๊ปแยกกันอีกในเฟสบุ๊ค เพื่อคิดต่อว่าเราสามารถต่อยอดอะไรขึ้นไปได้อีก ตอนนี้น้องและทีมมาดีก็ช่วยกันปั้นกิจการเพื่อสังคมของน้องเขาต่อมาเรื่อยๆ จากงานครั้งนั้น เห็นชัดว่าจากน้องคนหนึ่งที่มีความสนใจ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พอมีพื้นที่ให้เขาได้เจอผู้คน เจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน มันสามารถที่จะต่อยอดไปสู่อะไรที่น่าสนใจและส่งผลต่อสังคมในวันข้างหน้าอีกหลายแนวทางเลย
Q: ถ้าอย่างนี้กิจกรรมต่างๆ ก็จะมาทั้งจาก Ma:D เอง และคนที่สนใจก็สามารถมานำเสนอได้เหมือนกัน?
A: ใช่ค่ะ อาจจะเป็นสมาชิกหรือใครสักคนที่เดินเข้ามาบอกว่าสนใจประเด็นนี้นะ อยากปรึกษา มันก็จะมีโอกาสที่จะเกิดกิจกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น มีสมาชิกคนหนึ่งทำงานในเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยี แล้วเขาก็มีพาร์ทเนอร์ที่ทำเรื่องโดรน (Drone) ซึ่งเมื่อก่อนเราจะคุ้นๆ ว่าใช้ในสงคราม แต่จริงๆ แล้วมันมีการใช้โดรนในการส่งยาในพื้นที่ที่รถเข้าไม่ถึง หรือว่าใช้ในการ mapping พื้นที่ภัยพิบัติ พอดีเพื่อนเขาที่ทำเรื่องนี้จะแวะมาเมืองไทย ก็มีการพูดคุยกันว่าเราจะจัด Drone for Good กันไหม มีการระดมความคิดว่าโดรนสามารถนำไปใช้ในด้านสังคมได้อย่างไรบ้าง ใช้ในเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง
Q: นอกจากกิจกรรมต่างๆ แล้ว เราเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์จากที่ต่างๆ มาวางที่ Ma:D ด้วย ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าเป็นอะไรอย่างไร?
A: ตรงนี้เป็น showcase ผลิตภัณฑ์ของ SE ที่นอกจากเราอยากช่วยสนับสนุนให้เกิดแล้ว เราก็อยากช่วยขับเคลื่อนให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน คนเข้ามาติดต่อ มาร่วมกิจกรรมที่มาดีค่อนข้างเยอะในแต่ละเดือน ทำ showcase เพื่อช่วยโปรโมท SE อื่นๆ ด้วย อย่างที่เล่าว่าอยากสนับสนุนให้ทุกคนสร้างสิ่งดีดีให้สังคมได้ในแบบของตัวเอง เราก็เลยอยากสื่อสารว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายเลยก็คือสร้างผลเชิงบวกผ่านการช่วยสนับสนุนสินค้าของ SE ถามว่าถ้ามีผ้าสองผืนสวยเหมือนกัน ราคาเท่ากัน อันหนึ่งมีช่วยเสริมอาชีพชาวบ้าน กับอีกผืนหนึ่งเป็นแบบธรรมดา ถามว่าเป็นเราจะเลือกอันไหน เราก็อยากจะเลือกที่มันช่วงสร้างเรื่องดีๆ ในอนาคตก็อยากให้มีมาร์เก็ตที่ SE ทุกคนมาคุยกันมาช่วยกันสร้างทำให้เกิดขึ้น เป็นความร่วมมือที่ให้ SE ต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงตลาดเหมือนกันมาเจอกัน มาช่วยกันและกันให้โต เราอยากให้มันเป็นสังคมของคนทำงานเรื่องสังคมที่เกื้อหนุนกัน
Q: เท่าที่คลุกคลีกับคนที่สนใจทำงานเพื่อสังคม รวมถึงกิจกรรมที่ส่งผลต่อสังคมมาสักพักหนึ่ง ความเคลื่อนไหวของคนที่ทำงานเพื่อสังคมในมุมมองคุณกิ๊ฟท์เป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีองค์กรประเภทนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา มันช่วยสังคมได้อย่างไรบ้าง?
A: ต้องบอกว่าเห็นความเคลื่อนไหวที่ใหญ่และเยอะมากค่ะ อย่างที่เล่าให้ฟังตอนแรกว่าเมื่อก่อนตอนเราเด็กๆ ทุกคนก็จะเชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดว่าทำเรื่องสังคมอยู่ไม่ได้หรอกลูก กินแกลบ ก็ไม่มีใครอยากให้ทำ ที่นี้คนที่สนใจจะทำจำนวนหนึ่งก็หายไปหรือบางคนไม่ได้พร้อม เขาไม่มีทางเลือกมาก ก็ต้องเลือกทำภาคธุรกิจ ทำงานที่มั่นคงกว่า แต่เมื่อถัดมาอีกยุคหนึ่งที่เราเริ่มเห็นแล้วว่าทางเลือกมีเพิ่มมากขึ้น และเป็นทางเลือกที่ลดช่องว่างของทั้งภาคสังคมธุรกิจ ซึ่งถ้าอยากทำเรื่องสังคมคุณก็สามารถอยู่ได้นะ เกิดกรณีศึกษาและวิธีคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เราเชื่อว่าการทำเรื่องสังคม ถ้าคุณมีนวัตกรรม คุณก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง พอเป็นแบบนี้แล้ว ก็มีคนสนใจมากขึ้น กล้าที่จะก้าวเข้ามามากขึ้น แม้กระทั่ง NGO เอง ตอนนี้หลายๆ องค์กรก็เริ่มที่จะหันมาคิดแล้วว่าทางเลือกนี้ดีนะ แล้วจะทำอย่างไรได้บ้างให้ฉันสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนภาคธุรกิจเองก็เริ่มเห็นแล้วว่า จริงๆ ภาคธุรกิจก็ไม่ร้ายเสมอไปนะ เขาก็เริ่มหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งกระบวนการดีขึ้น กิ๊ฟท์คิดว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ดี และคนทั่วไปก็เข้าใจมากขึ้น เห็นมากขึ้น
Q: ในมุมมองของคุณกิ๊ฟท์ อะไรคือปัญหาขั้นวิกฤตของเมืองไทย?
A: เรื่องที่มองแล้วแบบวิกฤตสุดๆ คือ คนที่มีความเชื่อต่างกันบางกลุ่มได้เกิดความเกลียดชังหรือแคลงใจกันแบบฝังลึกไปแล้ว ตอนนี้มันอาจจะดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นรุนแรงมากมาย แต่ในใจมันเกิดแล้ว บางกรณีเขาเกลียดกันเอาเป็นเอาตายโดยที่ไม่เคยคุยไม่รู้จักกันเลยนะ เห็นอันหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกแย่มาก คือมีคุณลุงขอรับบริจาคเลือด แล้วมีคนมาบอกว่าลุง ‘มาจากจังหวัดนี้’ อย่าไปให้เลือดเด็ดขาด อยู่ที่โรงพยาบาลนี้ใช่ไหม ฉันจะบอกญาติฉันไม่ให้ไปบริจาคที่โรงพยาบาลนี้ คือคนจะตายอยู่แล้ว เขาเป็นฝั่งไหนยังไม่รู้เลยก็ตัดสินกันไปแล้วจากอะไรที่กว้างและเหมารวมมาก ตัดสินจาก ‘จังหวัด’ เห็นแล้วสะท้อนใจ ส่วนตัวคิดว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง ความรู้สึกมันปนกันหมดแล้วค่ะ รู้สึกว่าเรื่องนี้หนักสุด และไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าเป็นประเด็นตัวเองอินมากๆ ก็คือเรื่องคนไร้บ้านค่ะ บางคนอาจจะมองว่าทำไมเราต้องไปรับผิดชอบ พวกเขาออกจากงาน ออกจากบ้านมาเดินอิสระเสรีชนไม่เห็นต้องสงสารเลย แต่เมื่อเรามีโอกาสได้ไปศึกษาจริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ มีคนที่เป็นผู้ป่วย บางคนจำทางกลับบ้านไม่ได้ หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการถูกข่มขืน ไปจนถึงการมีลูกจากการถูกกระทำ ลูกก็โตมาแบบไม่ปลอดภัยติดโรค แล้วก็เป็นวงจรแบบนี้ ซึ่งปัญหามันใหญ่กว่าที่เราคิด มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าเราจะไปสนใจทำไมคนบ้า คนทั่วไปยังมองแบบนั้นอยู่
Q: แล้วคิดว่าพอจะมีทางออกที่ทำให้สิ่งที่เป็นมันบรรเทาลงบ้างไหม?
A: กิ๊ฟท์ยังเชื่ออยู่ว่าการที่ทำให้คนได้มารู้จักกันในมิติอื่นๆ จะทำให้ปัญหาตรงนี้บรรเทาลงได้ การที่คนที่ไม่รู้จักกันเลยมาตัดสินกันแบบเหมารวมกันและเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ มันก็จะฝั่งลึกจนเกลียดกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นจุดร่วมมันจะเข้าใจกันได้ ที่ Ma:D เราเชื่อว่าแต่ละครั้งที่คนซึ่งมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันแต่พอพวกเขามีจุดร่วมอย่างอื่นที่เขาสนใจตรงกัน เขาก็จะไม่เอาเรื่องนี้มาพูด แล้วพอเขารู้จักกันมากขึ้น มันก็ทำให้เขาเริ่มรู้ว่า เอ๊ะจริงๆ เขาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนี่น่า กิ๊ฟท์ยังเชื่อว่าการที่คนได้หันหน้ามาคุยกันมากขึ้น มีพื้นที่ให้เขาได้เจอกันมากขึ้น มันจะช่วยให้คนเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
Q: แล้วอะไรคือข้อดีของคนไทยที่เราสามารถนำมาช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้?
A: คนไทยเป็นคนขี้สงสาร ชอบช่วย อยากแก้ปัญหา กิ๊ฟท์เชื่อว่าทุกคนอยากทำเรื่องดีๆ ในใจทุกคนเลยนะ แต่บางครั้งอาจจะติดที่กับอุปสรรคบางอย่าง เช่น ขาดข้อมูล ขาดความรู้ เข้าไม่ถึงกับปัญหา ซึ่งถ้าเราทำให้เรื่องสังคมเข้าถึงง่ายขึ้น สามารถแบ่งปันข้อมูลเครือข่ายต่างๆ ให้แก่กันได้ คนจะหันมามองเรื่องนี้ ใส่ใจกัน และเข้าใจกันมากขึ้นด้วยค่ะ
Q: อนาคตของ Ma:D ที่ตั้งไว้ตอนนี้เป็นอย่างไร?
A: โมเดลปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากๆ อยากเปิดให้คนเข้าถึงเราได้มากกว่านี้โดยไม่ติดอุปสรรคทางการเงิน บางคนเข้ามาแบบมีไอเดีย ยังไม่มีกิจการ ไม่มีรายได้ Ma:D กำลังสร้างทางเลือกในการแลกเปลี่ยนและช่วยกันโดยไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย Ma:D จึงจะสร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นโดยการเปิดพื้นที่ private office ให้เช่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเองระดับหนึ่ง และยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กลุ่มที่มีกิจการแล้ว มีรายได้แล้ว ให้มีที่ทำงานที่ดี มีบริการครบ มี community ที่ทำให้ได้พบเจอผู้คนหลากหลายเพื่อต่อยอดกิจการ
แผนต่อไปก็คือการพัฒนากระบวนการที่เป็นระบบในสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของผู้ประกอบการสังคมและผู้สนใจ เราพยายามที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายสาขา หาวิธีที่จะทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เกื้อหนุนกันระหว่าง Ma:D กับภาคี เช่น CreativeMove, Ashoka หรือ ChangeFusion รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสังคมที่เกื้อหนุนกัน แล้วอนาคตจะมีการปลูกผักแนวตั้งด้วยค่ะ รวมถึงหาวิธีปรับบ้านให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ และอีกหลายๆ อย่างที่จะสื่อสารเรื่องวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ภาพ: Ketsiree Wongwan, www.facebook.com/madeehub
อ้างอิง: www.facebook.com/madeehub