หากย้อนไปเมื่อ 10 ปี ก่อน ‘Change Fusion’ อาจเป็นชื่อที่ยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ด้วยความเข้มข้นของแนวคิดบวกกับความตั้งใจจริงในฐานะตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมของมนุษย์ร่วมกัน ก็ทำให้องค์กรคนรุ่นใหม่แห่งนี้เป็นที่น่าจับตามองและก้าวขึ้นสู่การเป็น social enterprise แถวหน้าของบ้านเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘สุนิตย์ เชรษฐา’ กรรมการผู้จัดการ Change Fusion ถึงที่มาที่ไป ทิศทางการทำงานตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนทัศนคติของเขาที่มีต่องานเพื่อสังคม
Q: ช่วยเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของ Change Fusion หน่อยได้ไหม?
A: จุดเริ่มต้นของ Change Fusion เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ผมและเพื่อนๆ ยังเป็นนักศึกษากันอยู่เลยครับ แต่เดิมก็จะเป็นลักษณะของโครงการพัฒนา การออกค่าย ต่อมาก็เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงที่พวกเราได้รับเงินทุนจากการชนะรางวัลของการประกวดที่จัดโดยธนาคารโลก ประมาณปี 2001 ช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ปี 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการในตอนนั้นเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเราเสนอการทำระบบข้อมูลให้กับสหกรณ์ขนาดใหญ่ของธนาคารโลกมาทำงาน จากนั้นก็ทำงานด้านนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรียนจบและก็บอกกับตัวเองว่า โอเคเราอยากจะสานต่อให้มันสามารถดำเนินหน้าไปได้ ก็เลยแปลงจากองค์กรอาสาสมัครมาเป็นองค์กรที่ชัดเจนมากขึ้น
Q: แนวคิดและภารกิจที่ทำอยู่มีอะไรบ้าง?
A: ที่ Change Fusion เรามีเป้าหมายจริงๆ คือการสร้าง ‘นวัตกรรมเพื่อสังคม’ หรืออธิบายง่ายๆ เลยก็คือเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ โดยผ่าน 2 รูปแบบ ก็คือหนึ่งการเป็นที่ปรึกษาทางนวัตกรรมที่จะเข้าไปทำงานกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน มูลนิธิ หรือสมาคมต่างๆ ที่มีความสนใจอยากจะแก้ปัญหา เราก็ไปคุยกับเขา ไปดูว่าเราสามารถนำเอาเทคโนโลยี เครื่องมือ บุคลากร หรือวิธีการใหม่ๆ เข้าไปช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง และทำอย่างไรให้สิ่งที่พวกเขาคิดจะทำเกิดความยั่งยืน เช่น ช่วงที่ไข้หวัด 2009 ระบาดอย่างหนัก เราก็มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการกิจการเพื่อสังคมที่ชื่อ Open Dream ซึ่งเขาทำเทคโนโลยีอยู่แล้ว ตอนนั้นได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิของ Google และกระทรวงสาธารณสุขในการสร้างระบบเฝ้าระวังโรคระบาดผ่านมือถือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ควบคู่ไปกับระบบหลักของกระทรวงเพื่อให้การจัดการอะไรต่างๆ รวดเร็วขึ้น
อีกฐานหนึ่ง เราก็พยายามเข้าไปส่งเสริมสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กิจการเพื่อสังคม’ ซึ่งเป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น โดยมีรูปแบบการจัดการที่มีความยั่งยืนทางการเงิน สามารถขยายผลได้ และไม่ต้องพึ่งพาทุนให้เปล่าไปตลอด ซึ่งตรงนี้เราก็เริ่มเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ก็จะมีการตั้งกองทุนเล็กๆ ในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมเหล่านี้มาเรื่อยๆ มีการจัดประกวด สนับสนุนทุน และสนับสนุนเครือข่าย
Q: ถ้าอย่างนั้น Change Fusion ก็เป็นทั้งที่ปรึกษา เป็นตัวกลาง และเป็นผู้ระดมทุนด้วย?
A: ปัจจุบันเราจะเน้นเรื่องของการช่วยผู้ประกอบการเพื่อสังคม ตั้งแต่วางแผนธุรกิจ แก้ปัญหาเรื่องบัญชี หลังจากนั้นเราก็จะมาดูว่าโครงการไหนทำแล้วมันสำเร็จ โครงการไหนที่ไม่บรรลุเป้าที่ตั้งเอาไว้ วิเคราะห์เหตุและปัจจัยที่นำไปสู่สองสิ่งข้างต้น แล้วก็นำมาพัฒนา ซึ่งเราพบว่าถ้าจะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพ เดินต่อไปได้เนี่ย เราต้องไปหนุนให้เกิดคนรุ่นใหม่ๆ หรือว่าคนหน้าใหม่ๆ ที่ต้องการทุ่มเทเวลาและลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง เป็นธุรกิจที่จะมาแก้ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน แล้วเราก็จะเข้าไปเป็นตัวช่วยเขา ในช่วงปีที่ผ่านมา เราดูแทบจะเรื่องเดียวเลยคือเรื่องของการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมโดยการให้ทุนสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงต้น แล้วก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถ พอเขาโตถึงจุดหนึ่ง เราก็มีอีกกลไกหนึ่งคือ เราจะไปร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เรามีจำนวนหนึ่งในการสร้างบริษัทร่วมทุนขึ้นมา โครงสร้างเป็นบริษัท เป็นโฮลดิ้ง เป็นโฮลดิ้งคอมพานีที่เข้าไปร่วมทุนกับกิจการเพื่อสังคมจำนวนหนึ่งที่โตขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว แล้วก็จะไประดมทุนจากกลุ่มทุนที่อยากช่วยยกระดับสังคมไทยให้ดีและยั่งยืนมากขึ้น ปีนี้ก็มีการตั้งกองทุนซึ่งอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่เราก็พยายามที่จะต่อยอดไปให้ได้ครับ
Q: ช่วยยกตัวอย่างโครงการที่ผ่านมาให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
A: เราดูแลโครงการที่ค่อนข้างจะหลากหลายนะครับ ที่ผ่านมาก็จะมีอย่างเช่น โครงการที่เราทำร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและ Friedrich Naumann Foundation โจทย์ก็คือ การสร้างสื่อกลางที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ด้วยโจทย์ที่ค่อนข้างยากพอสมควร เลยทำให้ต้องนึกมาถึงว่าอะไรที่จะเชื่อมต่อกับเด็กๆ และคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ตอนนั้นเราได้ไปพูดคุยกับนักออกแบบของเล่นอย่างบริษัท คลับ ครีเอทีฟ จำกัด และมาจบตรงที่การทำสื่อกลางในรูปแบบเกมกระดานที่ชื่อ Sim Democracy เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนเรื่องสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการทำหน้าที่พลเมืองตามกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะมีการกระจายเกมไปให้เล่นกันในหลายพื้นที่แล้ว เรายังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่ออบรมการใช้สื่อดังกล่าวด้วย ส่วนโครงการอื่นๆ ก็เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปจับเรื่องการศึกษาและสุขภาพผ่านแคมเปญต่างๆ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุนหลัก ไปจนถึงการทำงานร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้านในการทำให้เนื้อหาที่เขามีชุดความรู้อยู่แล้วมาแปลงให้เป็นดิจิตอล โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบค้นหาต่างๆ เช่น Google เพื่อทุกคนสามารถให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น
Q: สำหรับการทำงานที่ผ่านมาประทับใจโครงการไหนเป็นพิเศษบ้างไหม?
A: ไม่ค่อยมี ทำแล้วเศร้า (ยิ้ม) หลักๆ ผมคงไม่พอยท์ไปเป็นโครงการๆ คือเมื่อเวลาเรามีการปรับโครงสร้างมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมผ่านโครงการหรือเครื่องมือต่างๆ ในท้ายที่สุดจุดสำเร็จไม่ใช่ตัวโครงการ แต่คือตัวผู้ประกอบการ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ เริ่มได้ลูกค้า เริ่มมีรายได้ การดำเนินกิจการเริ่มไปในทางที่ดี รู้สึกมั่นใจขึ้น แล้วเริ่มมาคุยกับเราว่า ‘เฮ้ยฉันจะต้องตั้งบริษัท ฉันจะต้องจดทะเบียนแล้ว’ ตรงนั้นเราจะแฮปปี้แล้ว เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเราได้สมบูรณ์ที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคมของพวกเขาอยู่รอดได้ ผมว่าความสำเร็จของเราก็คือตัวผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการเขาสร้างผลทางสังคมที่เขาอยากจะเห็นได้ชัดเจน ตอนนั้นล่ะคือความสุขของเราแล้ว
Q: ที่ผ่านมา อะไรคืออุปสรรคในการทำงาน และแก้ไขมันอย่างไร?
A: ผมคิดว่าใครก็ตามที่จะทำอะไรใหม่ โดยธรรมชาติแล้วสิ่งใหม่มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง พอมันเกิดขึ้นปุ๊บมันก็ต้องถูกต่อต้าน ต้องถูกทำลายลงไป ถูกวิวัฒนาการจัดการ ซึ่งถ้าใหม่แล้วดี มันไปได้ มันก็จะอยู่ยืนยง แต่ถ้าใหม่แล้วเฉยๆ มันก็จะเจ๊งไป เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเกิดใครจะทำอะไรใหม่ต้องบอกเลยว่าปัญหาใหญ่ก็คือจะทำอย่างไรให้ความใหม่มันยังเป็นไปได้จริง เพราะว่ามันจะต้องเจอปัญหาทุกขั้นตอนครับ แม้แต่ในเรื่องการช่วยเหลือสังคมก็ตามซึ่งเราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็น่าจะให้การสนับสนุนนะ แต่การแก้ปัญหาสังคมด้วยวิธีใหม่แบบนี้จะเวิร์กจริงหรือเปล่า เป็นวิธีที่ถูกต้องจริงหรือเปล่า ชุมชนหรือสังคมต้องการจริงหรือเปล่า จะหาลูกค้าอย่างไร มีเงินสนับสนุนไหม เราจะจัดการให้อะไรต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างไร หรือว่าปัญหาเรื่องคนอะไรต่างๆ
อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ๆ ก็คือเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องทุน หลายๆ คนบอกว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องเงิน ถ้ามีไอเดียดีๆ ก็จะมีเงิน ผมว่าเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แม้แต่ภาคเอกชนที่บอกว่า ‘เฮ้ยถ้าคุณมีไอเดียดีๆ นะ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา’ ซึ่งไม่จริงเลย แบงค์จะให้เงินคุณตอนที่คุณไม่ต้องการเงิน ตอนไหนคุณต้องการเงินเขาไม่ให้คุณหรอก ถึงใครจะบอกว่าเงินมันลอยอยู่ในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่การเข้าถึงเงินตรงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ทางแก้ก็คือการสร้างเครือข่ายเพื่อให้คนสนใจลงทุนเรื่องพวกนี้จริงๆ ขึ้นมา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ธุรกิจจะสำเร็จได้ก็ต้องมี ‘คน’ ที่ได้เรื่องมาทำงาน ต้องมีคนที่มีทักษะด้านต่างๆ มาประกอบกันทั้งการเงิน การตลาด การออกแบบ ที่มีประสบการณ์เป็นสิบๆ ปี เพื่อมาทำให้ธุรกิจโตได้หรืออย่างน้อยก็ 4-5 ปี ผมว่าสุดท้ายเรื่องคนนี่ล่ะที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ถ้าหากเราเลือกคนไม่ถูกกับงาน ธุรกิจก็โตไม่ได้ ไม่ว่าจะธุรกิจเพื่อสังคมหรือไม่เพื่อสังคมก็ตาม
‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ (BANPU Champions for Change) โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
Q: เท่าที่มีโอกาสได้ทำงานในเชิงสังคมมา คิดว่าตอนนี้สังคมของเรากำลังขาดอะไรที่เราควรจะต้องเข้าไปเติมเต็มบ้างไหม?
A: เราขาดทุกอย่างครับ ที่สำคัญที่สุดเลยคือเราขาดแรงบันดาลใจ ขาดต้นแบบของคน สมมตินะ ถ้าทุกคนในวงการครีเอทีฟ สื่อสาร การตลาด ดีไซน์ รู้จักครีเอทีฟมูฟ มันก็ย่อมจะมีคนถูกดูดมาสนใจเรื่องพวกนี้สักปีละคน 2 คน 3 คน 10 คน 100 คน 1,000 คน อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่ามันต้องมีการสื่อสาร case พวกนี้ที่จะสร้างแรงบันดาลใจในทุกๆ sector เลย เพราะว่าเรื่องสังคมมันไม่ได้ผูกด้วย sector ใด sector หนึ่ง ผมว่าเราขาดต้นแบบที่จะสร้างแรงบันดาลใจในประเทศ อย่างในอินเดียหรือเกาหลี เขามี case ของผู้ประกอบการเกือบทุก sector เลย ที่ทำกิจการเพื่อสังคมแล้วประสบความสำเร็จมากๆ กรณีของเกาหลี มีคนทำเกมปลูกต้นไม้ แล้วก็มีระบบโฆษณาให้มีเงินเหลือไปปลูกป่าได้จริงๆ ซึ่งปีที่แล้วเกมนี้สามารถนำไปสู่การปลูกป่าเกือบ 4 แสนต้นทั่วโลก คนทำก็อายุ 28–29 ซึ่งในเมืองไทยผมว่ายังลำบากอยู่ที่จะหา case พวกนี้นะ แต่ก็เชื่อว่าภายในปี 2 ปีนี้น่าจะเกิดขึ้นพอสมควร
ICT Plan for the Thai Health Promotion Foundation
เว็บเทใจ เป็นเว็บระดมเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมที่เน้นโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์ โปร่งใส ใช้งบ ประมาณไม่มาก และสามารถเห็นผลทางสังคมชัดเจน
Q: หลังจากทำงานกับสังคมมาพักใหญ่ๆ แล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมเกิดขึ้นบ้าง?
A: หลายด้านนะ ผมว่ามีบางด้านในสังคมที่แย่ลงเรื่อยๆ เช่น ความเชื่อมั่นในคนด้วยกัน เรื่องการเมือง ขณะเดียวกันคนทั่วไปก็หันมาสนใจเรื่องสังคมและการเมืองมากขึ้น มีคนสนใจอยากสนับสนุนมากขึ้น สำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการที่จะมาช่วยเรื่องสังคมมีมากขึ้นด้วย ผมว่ามันก็ไม่มีอะไรดีไม่มีอะไรเลวขนาดนั้น ยิ่งสถานการณ์สังคมการเมืองแย่ลงเท่าไหร่ โดยธรรมชาติแล้ว ผมเชื่อว่ามันน่าจะสร้างโอกาสให้คนที่จะมาทำเรื่องกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น ในวิกฤตก็ย่อมมีโอกาสซึ่งในประวัติศาสตร์มันก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด
Q: อะไรคือความสุขของการเป็นผู้ประกอบการสังคมที่ทำให้ยังคงทำงานมาจนถึงทุกวันนี้?
A: ถอยไม่ได้แล้วมั้ง เพราะทำงานไปแล้ว ผมว่าหลักๆ ก็คือพอทำไปเราก็เริ่มเห็นความสำเร็จอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ แล้วมันก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นไปได้ …too late ครับ ถอยกลับไม่ได้แล้ว
Q: มองอนาคตตัวเองและ Change Fusion ไว้อย่างไร?
A: ง่ายๆ เลยเราก็จะเกาะชายผ้าเหลืองผู้ประกอบการเพื่อสังคมขึ้นสวรรค์ตามกันไป (ยิ้ม) เห็นอย่างไรก็เห็นอย่างนั้นแหละครับ ผมจะพยายามสร้างกลไกที่มันขยายได้จริงๆ ในเชิงที่ว่าถ้าเกิดใครมีความสามารถที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมแล้ว เราก็น่าจะมีกลไกที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนเรื่องของทุนได้จริงๆ จังๆ ไม่ใช่แบบตอนนี้ที่ดูเหมือนเตี้ยอุ้มค่อมหน่อยๆ ทุนเราก็ไม่ได้หาจะได้ง่ายขนาดนั้นเหมือนกัน อยากจะมีกองทุนที่เป็นรูปธรรม เป็นกิจจะลักษณะ สามารถวัดผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริง สามารถเชื่อมโยงตลาดกับองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เรื่อง CSR อะไรทำนองนั้น เช่น ถ้าเกิดคุณเป็นผู้ประกอบการแล้วมีสินค้าบริการบางอย่างที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้จริงๆ ซึ่งทดลองมาระดับหนึ่งแล้วต้องการขยายผล เราก็อยากจะเชื่อมคุณกับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ หรือว่าบริษัทต่างๆ ให้สามารถขยาย impact ของคุณได้เต็มที่ ผมคิดว่าเราน่าจะมีกลไกลเหล่านี้ มีทีมที่ทำให้เรื่องนี้โตไปได้จริงๆ ผมยังรู้สึกว่าช่วงนี้ยังเป็นแบบช่วงเริ่มต้นมากๆ อยู่เลยนะ ยังเตาะแตะๆ แบบเดินไปด้วยกันนะ คนสนับสนุนก็ไม่ได้เก่งกว่าคนที่ถูกสนับสนุน เป็นช่วงของการเรียนรู้ในบทบาทของแต่ละคนไปด้วยกันมากกว่า
อ้างอิง: ChangeFusion
ภาพ: Ketsiree Wongwan