ถ้าถามเด็กเล็กๆ ว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร อาชีพหมอ วิศวะ พยาบาล หรือคุณครู ดูเหมือนจะเป็นอาชีพแรกๆ ที่เป็นคำตอบ ครั้นเมื่อโตขึ้นในวัยที่พร้อมก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย นักเรียนที่มีคะแนนสูงในขั้นหัวกะทิ (ส่วนใหญ่) จะเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับ วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ เด็กนักเรียนเรียนดีจากเชียงรายที่สามารถสอบโควตาเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ในคณะแพทยศาสตร์ ในปี 2528 หลังจากจบการศึกษา คุณหมอวีรฉัตรกลับไปเป็นแพทย์ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย บ้านเกิดของคุณหมอเป็นระยะเวลา 3 ปี ก่อนตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้านการบริหารจัดการสุขภาพอนามัย และบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิต (MBA) โดยเลือกเรียนเอกทางด้าน Finance และนั่นอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดพลิกผันที่คุณหมอเริ่มต้นเดินบนเส้นทางธุรกิจที่ไม่ได้ตั้งเป้ากำไรเป็นจุดมุ่งหมายหลัก แต่คุณหมอได้ผนวกการป้องกันเพื่อให้ผู้ใช้ลดอัตราเสี่ยงจากสารพิษผ่านผลิตภัณฑ์ ‘ภาชีวะ’ Gracz ภาชนะจากเยื่อพืชธรรมชาติเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม
Q : อะไรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจประกอบธุรกิจแทนอาชีพหมอ อาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝันครับ
A : จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ทิ้งอาชีพหมอไปเลยนะครับ แต่ผมนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพดีๆ ให้กับประชาชนทั่วไป สำหรับผมแล้วมุมชีวิตของหมอสามารถแบ่งเป็น 2 มุม คือ มุมของการรักษาพยาบาลคนไข้ ซึ่งในมุมนี้จะเป็นวงจรการทำงานทั่วไป เช่น พบคนไข้ สอบถามอาการ จ่ายยา พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ ส่วนอีกมุมหนึ่งคือ การดูแลรักษาคนไข้ประจำที่เกิดจากความศรัทธาต่อคุณหมอ เพราะคนไข้ส่วนใหญ่จะติดคุณหมอท่านเดิม ไม่ค่อยเปลี่ยนหมอใหม่ อาจเป็นด้วยความไว้ใจ ความคุ้นเคย ทราบประวัติการรักษาในอดีต ฯลฯ ซึ่งทั้ง 2 มุมนี้เป็นมุมมองในเรื่องของการรักษา (Treatment) หมายถึง เมื่อเกิดอาการไม่สบาย หมอจะทำหน้าที่รักษาให้หาย แต่ยังมีอีกหนึ่งมุมมองที่เราสามารถทำได้แต่เรากลับมองข้ามไป มุมมองนั้นคือ Prevention หมายถึง การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งการ ‘ป้องกัน’ นี่แหละเป็นตัวที่ผมสนใจ เพราะถ้าเราดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ ซึ่งถือได้ว่า เรามีส่วนช่วยหมอทั้งทางตรงและทางอ้อม
Q : หลังจากจบการศึกษาจากประเทศอเมริกาแล้ว คุณหมอมีโอกาสเริ่มต้นการทำงานในสายอาชีพไหนบ้าง ก่อนก้าวเข้าสู่ธุรกิจ ภาชีวะ Gracz
A : พอจบมา ผมเริ่มทำงานด้านการเงิน (Finance) เลยนะครับ เพราะผมเป็นคนชอบตัวเลข ชอบคำนวณ แต่ในเชิงตรรกะแล้ว หน้าที่ของ Finance ที่ดี คือการวางระบบพร้อมให้การสนับสนุนทั้งฝ่ายขาย (Sales) และฝ่ายการตลาด (Marketing) ซึ่งนั่นหมายถึงการ ‘ป้องกัน’ ไม่ให้การทำงานเกิดปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องทางการเงิน ซึ่งไม่ต่างจากแนวคิดเดิมที่ผมตั้งใจไว้ หลังจากนั้น ผมเริ่มหันเข้าสู่ธุรกิจเทรดดิ้ง มีการนำเข้าและส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปประเทศเวียดนาม พม่า หรือลาว เป็นต้น โดยใช้พื้นฐานจากการเป็นหมอค้นหาผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่เหมาะสม
ต่อจากนั้นผมมีโอกาสได้ไปเจอภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเยื่อต้นไม้ในประเทศเยอรมัน แม้ว่ารูปทรงของผลิตภัณฑ์ขาดความคงรูป แต่แนวคิดถือว่าน่าสนใจมาก ณ จุดนั้นเองทำให้ผมเริ่มศึกษาค้นคว้าความเป็นไปได้ในการสร้างภาชนะจากวัสดุตั้งต้นที่เป็นธรรมชาติ แต่การจะใช้เยื่อไม้มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น ก็อาจถูกมองว่าเราเป็นผู้ตัดทำลายต้นไม้ ดังนั้นผมจึงมองหาวัสดุที่เหมาะสมที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม (Agriculture Based) ซึ่งนั่นหมายถึงเรามีพืชเกษตรกรรมเยอะมากที่สามารถนำวัตถุดิบเหล่านี้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น ฟางข้าว ไมยราบ ผักตบชวา ชานอ้อย ฟางข้าวโพด ฯลฯ จนในที่สุด เราได้เลือก ชานอ้อย มาเป็นต้นตอวัตุดิบในการสร้างภาชนะจากเยื่อพืชธรรมชาติ จนทำให้เกิดธุรกิจภาชีวะ Gracz
Q : ทำไมคุณหมอถึงเลือก ชานอ้อย มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นครับ
A : จากการค้นคว้าวิจัย พบว่า ชานอ้อย ให้คำตอบที่ครอบคลุมปัจจัยตั้งแต่ก่อนกระบวนการผลิตจนถึงจุดสิ้นสุดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด สืบเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ดังนั้น กากของชานอ้อยที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลจึงมีอยู่มาก เราสามารถคัดเลือกชานอ้อยที่มีคุณภาพดีได้ง่าย ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในระบบโลจิสติกส์ อีกทั้งสารตกค้างของชานอ้อยมีปริมาณน้อยและสามารถกำจัดได้ง่าย ทำให้ภาชนะมีความปลอดภัยในการใช้งาน เนื้อเยื่อของชานอ้อยสามารถขึ้นรูปทรงได้ง่ายและมีความแข็งแรง ที่สำคัญเมื่อนำไปเผา ชานอ้อยจะปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศน้อยมากๆ จากเหตุผลทั้งหมด จึงทำให้ชานอ้อยตอบโจทย์ในการทำงานมากที่สุด
Q : ข้อดีของภาชีวะที่ทำจากเยื่อพืชธรรมชาติคืออะไรครับ
A : ภาชีวะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมี และปลอดภัยกับสุขภาพครบทุกมุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนำไปใส่อาหาร นอกจากนี้ เรายังสามารถนำภาชีวะเข้าตู้อบไมโครเวฟอุ่นอาหารได้ด้วย โดยจะไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเข้าไปในอาหาร เพราะผลิตภัณฑ์คือเยือพืชธรรมชาติทั้งหมด นอกจากนี้เมื่อเราใช้เสร็จ เพียงแค่เรานำภาชีวะไปฝังกลบในดิน ภาชีวะก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยภายใน 1 เดือน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เราได้มีการตั้งค่ามาตรฐานเพื่อตรวจสอบวัตถุตั้งต้น เพื่อให้ได้ชานอ้อยที่มีคุณภาพดี จากนั้นเราได้กำจัดสารเคมีที่อาจตกค้างโดยการต้มที่อุณหภูมิสูงถึง 200 C รวมถึงการอาบแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อโรครวมไปถึงสารเคมีทุกชนิด
Q : คุณหมอมีการวางแผนในการทำธุรกิจอย่างไร
A : การจะนำเสนอภาชีวะสู่ตลาด นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจำเป็นต้องศึกษามิติต่างๆ ที่มีผลกับการซื้อด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘การใช้งาน’ และ ‘ราคา’ เราเริ่มต้นจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงคล้ายๆ กับกล่องโฟมแบบเดิมก่อน เพื่อให้ผู้ซื้อทราบว่า ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง แต่ในส่วนของราคา ในช่วงต้นของการพัฒนา ราคาผลิตภัณฑ์ของเราสูงกว่าโฟมอยู่หลายเท่าตัว เช่น โฟมราคา 1 บาท ผลิตภัณฑ์ของเราราคา 4 บาท แต่ ณ วันนี้ ทีมงานได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนทำให้เราสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับโฟม โดยราคา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาท แต่อย่าลืมว่าเทรนด์ของการรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่ง 1 บาทที่เราจ่ายเพิ่มสามารถแลกกับการรักษาสุขภาพที่ดีในระยะยาวได้
Q : เมื่อพูดถึง โฟม ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อยากทราบว่า โฟม ส่งผลกระทบกับเราอย่างไรบ้าง
A : โฟมที่เราใช้อยู่นั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากปิโตรเลียมและไม่ใช่ปิโตรเลียมตั้งต้น แต่เป็นเศษที่หลงเหลือจากกระบวนการกลั่น โฟมมีสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (Carcinogen) โดยสารประเภทนี้จะสามารถแทรกตัวไปกับอาหาร จากการทดลองในห้องปฏิบัติการณ์ ตรวจสอบไข่ไก่ที่วางบนแผงไข่ที่ทำจากโฟม ผลปรากฏว่า เราพบสารสารสไตรีนแฝงอยู่ในไข่ไก่ นั่นแสดงให้เห็นว่า สารสไตรีนจากโฟมสามารถซึมผ่านเปลือกไข่เข้าสู่ชั้นในได้ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของสารสไตรีนที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่อาหารได้ง่ายเช่นกัน
โดยทั่วไป ผู้บริโภคคิดว่า ณ อุณหภูมิห้องปกติ เราสามารถทานอาหารในกล่องโฟมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สารสไตรีนสามารถซึมผ่านเข้าสู่อาหารไม่ว่าอาหารนั้นจะร้อน อุณหภูมิปกติ หรือเย็นจัด ยิ่งร้อนมาก เย็นมาก สารสไตรีนก็จะซึมผ่านได้เร็วขึ้น ที่สำคัญ อาหารมันๆ เช่น ผัดซีอิ๊ว ข้าวขาหมู ทอดมัน ฯลฯ เป็นอาหารที่สารสไตรีนชอบมาก เพราะน้ำมันเป็นตัวดูดสารสไตรีนได้อย่างดีเยี่ยม นั่นแสดงให้เห็นว่า ยิ่งมันมากเท่าไหร่ เราจะได้รับสารก่อมะเร็งมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งถ้าเราปล่อยอาหารทิ้งไว้ในกล่องโฟมนานเท่าไหร่ ปริมาณสารสไตรีนก็จะสูงขึ้นตาม ดังนั้น เราจึงไม่ควรนำโฟมมาใส่อาหาร ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นก็ตาม
Q : แม้ว่าราคาจำหน่ายของกล่องโฟมจะถูกกว่าภาชีวะ แต่ถ้าเราพูดถึงวงจรชีวิต (Life Cycle) ของหนึ่งผลิตภัณฑ์ คุณหมอคิดว่า กล่องโฟม หรือ ภาชีวะ คุ้มค่ามากกว่ากันครับ
A : ในมุมมองนี้ ไม่ค่อยมีใครนำเสนอ และผมถือว่าเป็นคำถามที่สามารถแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ทั้งสองอย่างได้ตรงประเด็นมากที่สุด เพราะเมื่อเราพูดถึงราคา ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงราคาที่เราจำหน่ายในมุมมองเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งส่วนที่ถูกมองข้ามไป นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำลายหลังจากการใช้งาน จากการศึกษาพบว่า กล่องโฟม 1 บาท จะต้องใช้มูลค่าในการทำลายทั้งสิ้น 6 บาท นั่นหมายถึง วงจรชีวิตของโฟมมีมูลค่าทั้งสิ้น 7 บาท แต่สำหรับภาชีวะที่ทำจากเยื่อพืชธรรมชาติ แม้ว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ 2 บาท แต่มูลค่าในการทำลายไม่มีเลย เพราะผลิตภัณฑ์สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถนำกลับไปเป็นส่วนผสมของปุ๋ยได้ด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า มูลค่าตลอดทั้งวงจรชีวิตของภาชีวะ อาจจะไม่ถึง 2 บาทด้วยซ้ำ เพราะเราสามารถสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้นหลังจากการใช้งานได้อีก ซึ่งนั่นคือมูลค่าและคุณค่าที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์
Q : คุณหมอมีโครงการต่อยอดภาชีวะในอนาคตอย่างไรบ้าง
A : ในช่วงต้นเราพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับใช้แทนภาชนะโฟมเป็นหลัก ดังนั้นรูปทรงของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโฟม หรือไม่ก็เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร สิ่งที่เรากำลังพัฒนาคือ การใช้งานออกแบบเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปทรงและสีสัน เพื่อสร้างความแตกต่างไปจากผลิตภัณฑ์โฟม และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น
นอกจากผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่อาหารแล้ว เรากำลังก้าวเข้าสู่ตลาดที่ไม่ใช่อาหารด้วย (Non-food) เช่น การนำวัตถุดิบตั้งต้นอย่างชานอ้อยไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ของเล่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านของเล่นอย่าง Mattel เริ่มมีการใช้บรรจุภัณฑ์จากเราแล้ว เป็นต้น
Q : อยากให้คุณหมอช่วยฝากแนวคิดในการสร้างธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างธุรกิจ หรือกำลังวางแผนในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานสักนิดครับ
A : สำหรับผมแล้ว แนวคิดในการสร้างธุรกิจที่มุ่งหวังแต่เพียงรายได้มุมเดียวจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะสังคมการบริโภคในปัจจุบันเป็นการอยู่ร่วมกันของสังคม ผู้บริโภคไม่ได้มองที่ผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่มององค์รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม ชุมชน หรืิอสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น การพัฒนาหนึ่งผลิตภัณฑ์จะต้องตอบโจทย์ในมุมมองของการอยู่ร่วมกันไดทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อเราตั้งใจทำอะไร เราควรศึกษาความเป็นไปได้ และต้องทำให้สุด แม้ว่าระหว่างทาง เราอาจจะพบแต่คำว่า ‘ไม่ได้’ แต่มันจะมีครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คำตอบว่า ‘ได้’
คุณหมอวีรฉัตรกล่าวเสร็จพร้อมกับรอยยิ้ม ตลอดการพูดคุยไม่เหมือนกับการสัมภาษณ์ถามตอบเหมือนที่ผมเคยสัมผัส แต่เหมือนกับการสนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดผ่านประสบการณ์ดีๆ ที่คุณหมอพร้อมมอบให้แบบเต็มร้อย ผมหวังว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คน อย่างน้อยที่สุด แนวคิดของการประกอบธุรกิจ ณ วันนี้ ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรจากตัวเงินเป็นที่ตั้ง แต่เป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าดีๆ ให้กับชุมชนที่เราอยู่ สังคมที่เราร่วมอาศัย และสิ่งแวดล้อมที่เราช่วยกันดูแลเพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง