เวลานี้ในแถบยุโรปและอเมริกากำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมทางที่สำคัญและฮ็อตฮิตที่สุดก็คือ ‘เทศกาลดนตรีและศิลปะ’ ที่นับวันยิ่งผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด เพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งจึงเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมที่อาจโดนทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้จัด เพราะเทศกาลดนตรีและศิลปะหลายที่นิยมจัดกันในละแวกทุ่งหญ้าป่าเขา เนื่องจากมีบริเวณกว้าง พวกเขาจึงก่อตั้งบริษัท อะ กรีนเนอร์ เฟสติวัล (A Greener Festival) ขึ้น เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจเทศกาลดนตรีและศิลปะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
อะ กรีนเนอร์ เฟสติวัล หรือเรียกสั้นๆ ว่า AGF เป็นบริษัทไม่หวังผลกำไรในสหราชอาณาจักรที่ก่อตั้งโดยแคลร์ โอนีล, เบน แชลลิส และ ลุค เวสต์บิวรี ในปี 2006 รับให้คำปรึกษาผู้จัดและทีมงานจัดเทศกาลดนตรีและศิลปะทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้การจัดเทศกาลดนตรีและศิลปะควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยเปิดให้บริการข้อมูลข่าวสาร จัดหาแหล่งการศึกษาสำหรับการจัดเทศกาลที่ถนอมโลกและพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงการนำเสนอความคิดใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้กับผู้จัด เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานเทศกาลดนตรีและศิลปะกลมกลืนไปกับความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ
กระแสตอบรับ AGF ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับจากวงกว้างอย่างมาก ทีมงานจึงเล็งเห็นว่า นอกเหนือจากเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และร่วมคิดวิธีการเพียงอย่างเดียว ควรมีการขยายตัวองค์กรเพื่อโปรโมทการทำงานของบริษัทให้เข้าถึงเป้าหมายสิ่งแวดล้อมได้เข้าถึงทุกสังคม ตรงจุด และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงก่อตั้งรางวัลอะ กรีนเนอร์ เฟสติวัล อวอร์ด (A Greener Festival Award) ขึ้นในปี 2007 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีที่แบ่งเป็นสาขาต่างๆ แต่รางวัลใหญ่จะมอบให้กับการเทศกาลที่ผ่านเกณฑ์การจัดงานอิงสิ่งแวดล้อม 56 ข้อ และให้คำมั่นว่าสามารถปฏิบัตินโยบาย A-Z ได้จนครบด้วย นอกจากนี้ AGF ยังมีการส่งทีมไปตรวจสอบเทศกาลดนตรีในอังกฤษทุกๆ ปี โดยเฉพาะที่เคยทำงานร่วมกันมา เพื่อดูแลพัฒนาการในแต่ละส่วนด้วย
ทั้งนี้ แม้ AGF จะพร้อมยื่นมือช่วยเหลือผู้จัดเทศกาลทุกราย แต่บริษัทจะปฏิเสธการทำงานร่วมกับองค์กรหรือผู้จัดที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ 3 ประเภทซึ่งขัดกับจรรยาบรรณของบริษัท ได้แก่ องค์กรหรือผู้จัดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การค้าขาย และ/หรือการจัดจำหน่ายอาวุธ องค์กรหรือผู้จัดที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์หรือการมีรายได้จากแหล่งที่ไม่แน่ชัด แต่ดำเนินธุรกิจด้านป่าไม้ เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมเหมืองแร่และน้ำมัน สุดท้ายคือ องค์กรหรือผู้จัดที่เอาเปรียบบุคคลอื่น หรือ/และมีการกระทำที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามประกาศของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ท่องเทศกาลดนตรีในยุโรปหรืออเมริกาครั้งต่อไป อย่าลืมตรวจสอบว่า เทศกาลของคุณเข้าโครงการรักษ์โลกกับ AGF หรือยัง โลกจะได้เขียวไปชั่วลูกชั่วหลาน
[youtube url=”http://youtu.be/Px6qfsRXv2w” width=”600″ height=”340″]
ภาพยนตร์สั้นเจ็บจี๊ดที่ชี้ชัดว่า เรามีส่วนร่วมทำลายสิ่งแวดล้อมระหว่างการชมเทศกาลดนตรีได้อย่างไร
อ้างอิง : เว็บไซต์ A Greener Festival, ฟลิคเกอร์ A Greener Festival