‘Bridges for Music’ สะพานดนตรีเชื่อมสายใยโลก

เราตีโพยตีพายเมื่อต้องเผชิญชีวิตในสังคมที่มีความแตกต่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนกลุ่มหนึ่งกลับทำตรงข้าม พวกเขามองเห็นปัญหา แล้วพยายามย่อโลกให้เล็กลงและอบอุ่นขึ้นด้วยการใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกเป็นใบผ่านทางอันเข้มแข็ง

บริดจ์ส ฟอร์ มิวสิค (Bridges For Music) หรือ BFM เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ดึงเอาดนตรีมาเป็นตัวเชื่อมสังคมที่แตกต่าง เพราะโดยธรรมชาติของดนตรีเองนั้นจะไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ฐานะ หรือสีผิว หากมีเพียงอย่างเดียวที่คนฟังและคนผลิตผลงานปรารถนา นั่นคือ ดนตรีแบบที่พวกเขาชอบที่จะฟังหรือรักที่จะทำ และเมื่อได้อยู่ในวงจรของคนฟังเพลงและคนทำเพลงที่มีรสนิยมเดียวกันแล้ว เราทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพ

BFM ให้ศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมเต็มตัวในโครงการต่างๆ เพื่อนอกจากเยาวชนจะได้เรียนรู้จากศิลปินโดยตรง เกิดแรงบันดาลใจ และองค์กรประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว นักดนตรีหรือศิลปินผู้ผลิตงานเพลงในปัจจุบันยังถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของวัยรุ่น พวกเขาสามารถสื่อสารให้แฟนคลับรับรู้ถึงการมีอยู่ของสังคมย่อยๆ ที่ถูกละเลย และเมื่อมีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจลงมือปฏิบัติให้เกิดสังคมที่ดีกว่าได้เร็วและกว้างขวางขึ้น

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ BFM มีอยู่ 5 ข้อ คือ Enhance – ให้เยาวชนได้สร้างโอกาสและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยดนตรีที่เขาเรียนรู้ Inspire – ใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในท้องถิ่นรุ่นต่อไป Connect – เป็นสายใยเชื่อมระหว่างสังคมที่ด้อยโอกาสกับโลกภายนอก โดยให้คนเมืองใหญ่หรือคนต่างถิ่นได้เห็นความสามารถทางดนตรีของพวกเขา Raise Awareness – ให้โลกได้ตระหนักถึงปัญหาภายในชุมชนผ่านการแสดงออกทางดนตรี และ Gather – รวบรวมผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่นมาร่วมปิดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจผ่านดนตรี ซึ่งรวมถึงการลดความขัดแย้งและความแตกต่างทางเชื้อชาติ การศึกษา และฐานะด้วย

รูปแบบการทำงานของ BFM คือ พวกเขาจะชักชวนศิลปินสายดนตรีอิเล็กทรอนิกหรือแนวเต้นรำตั้งแต่ระดับต้นๆ ของโลก เช่น ริชี่ ฮาวทิน, สกริลเลกซ์ (ศิลปินผู้ชนะรางวัลแกรมมี่), โกลด์ฟิช, บอยนอยซ์, ลูเซียโน และแบล็ค คอฟฟี เป็นต้น มาร่วมทำกิจกรรมทางดนตรีเพื่อสังคมที่ถูกมองว่าเป็นชุมชนด้อยโอกาสและตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศแถบแอฟริกา กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มีหลากหลาย อาทิ การจัดเวิร์คช็อปสอนผลิตดนตรีแนวอิเล็กทรอนิก การเข้าร่วมเสวนาดนตรี การจัดโครงการพิเศษเพื่อขยายฐานหรือแหล่งความรู้ รวมไปถึงการนำเยาวชนที่ได้รับการฝึกออกไปเผชิญโลกดนตรีของจริง

ดังล่าสุดที่ BFM นำเด็กๆ ไปประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมแสดงที่กลาสตันบิวรี เทศกาลดนตรีและศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างสะพานเชื่อมโลกที่ไม่ธรรมดาเลย

[youtube url=”http://youtu.be/9Cf8AyaJgTA” width=”600″ height=”340″]
ตัวอย่างภาพยนตร์สารคดีที่รวบรวมการกิจกรรมดีๆ ของ BFM และได้ศิลปินอิเล็กทรอนิกชื่อดังอย่างริชี่ ฮาวทิน, สกริลเลกซ์ และลูเซียโน มาเป็นแขกคนพิเศษ

อ้างอิง: Bridges For Music, เฟซบุ๊ค Bridges For Music