Coldplay จับมือ Oxfam ต่อต้านการไล่ที่ของนายทุนจากผู้ด้อยโอกาส

วงบริตร็อคขวัญใจชาวโลกจับมือองค์กรการกุศล ออกซ์แฟม ยื่นจดหมายและวิดีโอไวรัลเพื่อยุติการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรมให้กลุ่มผู้นำ G8

เราคุ้นหูกันบ่อยครั้งกับข่าวการไล่ที่ในเมืองไทย เพียงเพราะนายทุนผู้มีเงินและอำนาจสั่งกวาดพื้นที่ให้เรียบก่อนก่อสร้างตึกสูงที่ทำกำไรมหาศาลหรือนำที่ออกประมูลเพื่อแลกเงินก้อนโต แต่รู้หรือไำม่ว่า เหตุการณ์เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศของเรา หากเป็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศด้อยพัฒนาและประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจนซึ่งใช้พื้นที่ทำการเกษตรเลี้ยงชีพ

ออกซ์แฟม (Oxfam) องค์กรการกุศลที่มีเป้าหมายหลักหยุดความยากจนในทุกพื้นภูมิภาคของโลก และมีสาขาใหญ่ที่อังกฤษ เห็นว่าคราวนี้เป็นฤกษ์ดีที่จะได้ผลักดันโครงการยุติการไล่ที่อย่างเป็นรูปเป็นร่างหลังจากพยายามมาหลายปี เนื่องจากมีการจัดประชุมกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G8 ที่ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งกลุ่ม G8 นี้เองที่ประกาศแถลงการณ์ในปี 2000 ว่า ต้องการพื้นที่ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก

เมื่อได้ศิลปินมหากุศลอย่าง Coldplay วงบริตร็อคเจ้าของรางวัลแกรมมี่อวอร์ดและอีกมากมายยินยอมพร้อมใจด้วยแล้ว แคมเปญพิเศษและวิดีโอ ‘In My Place Film’ จึงเกิดขึ้น โดยเปิดให้แฟนๆ ส่งวิดีโอหรือรูปภาพของตัวเองที่แสดงให้เห็นสภาพการใช้ชีวิตแบบคนไม่มีบ้านเข้ามา และรวบรวมตัดต่อประกอบเข้ากับเพลง ‘In My Place’ ผลงานฮิตของวงในเวอร์ชั่นอะคูสติกที่ Coldplay มอบให้ออกซ์แฟมเพื่องานนี้โดยเฉพาะ วิดีโอชิ้นนี้ไม่เพียงแต่อุทิศให้กับผู้ถูกไล่ที่ทั่วโลก แต่ยังเป็นการแสดงจุดยืนการต่อต้านการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรมทั้งของรัฐและเอกชน จากนั้นก็ปล่อยให้วิดีโอไวรัลผ่านแฟนเพลง ตัววง และองค์กรให้เป็นกระแส พร้อมแท็ก #stoplandgrabs ซึ่งมีความหมายว่า ‘หยุดการไล่ที่’ นั่นเอง

ถึงวันนี้ วิดีโอได้ออกไวรัลสู่สายตาประชาชนแล้ว โดยมีศิลปินและคนดังอย่างนักร้อง เอ๊ด ชีแรน, วง Wolf Gang และนักแสดงหนุ่ม โดมินิก คูเปอร์ ปรากฎในวิดีโอที่กำกับโดยแม็ต ไวต์ครอส ออกซ์แฟมได้มอบวิดีโอชิ้นนี้พร้อมจดหมายเปิดผนึกถึง เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเจ้าบ้านการประชุมสามัญใหญ่ จี 8 ซัมมิต 2013 (G8 Summit 2013) และบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้นำคนสำคัญที่เข้าร่วมประชุมเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา แม้ไม่มีการให้คำมั่นสัญญาจากผู้นำทั้งสอง แต่แน่นอนว่าสาส์นได้ถูกส่งต่อถึงเป้าหมายสำคัญ นอกจากนั้น พวกเรายังสามารถร่วมสนับสนุนโดยการลงชื่อสนับสนุนโครงการในเว็บไซต์ของออกซ์แฟมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการยุติการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรมครั้งนี้ให้เดินหน้าต่อไปในระยะยาว

 

[youtube url=”http://youtu.be/N3Q99paqIRY” width=”600″ height=”340″]

ตัวอย่างคลิปวิดีโอจิกกัดนโยบายการเพิ่มพื้นที่ทางเศรษฐกิจของ G8 ที่ออกซ์แฟมปล่อยออกมา ไม่ทำตัวดราม่าน้ำตาริน แต่เสียดสีได้แสบสันต์แบบอังกฤษขนานแท้

 

[youtube url=”http://youtu.be/jdwGB-Pzmy8″ width=”600″ height=”340″]

คลิปโปรโมทแคมเปญให้คนร่วมส่งวิดีโอและภาพเข้ามาอย่างเป็นทางการ

 

[youtube url=”http://youtu.be/dqS0LHT-jEQ” width=”600″ height=”340″]

ผู้กำกับ แม็ต ไวต์ครอส ออกมาเล่าแคมเปญให้ฟังด้วยตัวเอง

 

[youtube url=”http://youtu.be/ogItgrO9GSg” width=”600″ height=”335″]

วิดีโอ In My Place Film ฉบับสมบูรณ์ที่ดูสบายๆ แต่มีความหมายแฝงในนั้น

 

[youtube url=”http://youtu.be/sBtwW52aUYY” width=”600″ height=”340″]

ภาพยนตร์เรื่อง Glen, Gary and Ross ที่พูดถึงการไล่ที่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ภาพถ่ายฝีมือเอ็มมา ฮาร์ดี้ ช่างภาพที่เดินทางไปเก็บบันทึกเรื่องราวในชุมชนของกัมพูชาที่กำลังสูญเสียแผ่นดินอยู่และพื้นที่การเกษตรจากการถูกไล่ที่ (เครดิต: Sojo)

 

ภาพแสดงพื้นที่ที่ถูกกว้านซื้อเพื่อขยายกิจการ นับตั้งแต่ปี 2000 จนถึงเดือนปลายปี 2012 (เครดิต: Richard Brenneman)

 

ผู้ร่วมรณรงค์แคมเปญ ‘ยุติการไล่ที่’ ยังคงถือป้าย ‘SOLD: To Greedy Investors’ หรือ ‘ขายแล้ว: ให้นายทุนผู้ละโมบ’ ปักยังสถานที่สำคัญของเมืองใหญ่ต่างๆ เพื่อเป็นการบอกต่อว่า ถ้าจะซื้อ ก็ซื้อให้ทุกที่ อย่ารังแกแค่คนยากจนที่ไม่มีทางสู้ หรือถ้าจะขายก็ขายให้หมด อย่าเลือกแค่ที่ที่ไม่ใช่ของเรา หรือที่ที่คิดว่าเจริญกว่า ในภาพ สองสาวปักป้าย ณ สะพานฟอร์ธเรล อันเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ (เครดิต: Thrid Force News)