Colony Collapse มิวสิกวิดีโอสะท้อนความเสื่อมถอยสิ่งแวดล้อมเกาะชวา

แม้อินโดนีเซียจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีธรรมชาติหลงเหลืออยู่มาก แต่ด้วยความพยายามสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยหน้าประเทศไทย ทำให้พวกเขาประสบปัญหาทางสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น กระทั่งศิลปินหนุ่มสาวคู่หนึ่งไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ขอรวมตัวกันเฉพาะกิจลุกขึ้นมากระตุ้นจิตสำนึกของคนในชาติผ่านดนตรีที่พวกเขารัก

โนวา รูธ แร็ปเปอร์สาวหนึ่งในสมาชิกวง Twin Sista จับมือกับโปรดิวเซอร์หนุ่มชาวสเปน เกรย์ ฟิลาสติน สร้างสรรค์ดนตรีอิเล็กทรอนิกกึ่งเวิลด์มิวสิกออกมาเป็นอีพี Colony Collapse เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา เปรียบจิตใจและวิถีชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นเช่นอาณานิคมที่ค่อยๆ ล่มสลาย ทุกคนต่างดิ้นรนไปสู่สิ่งที่ ‘เจริญกว่า’ แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำหลายอย่างสร้างหายนะให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นแผ่นดินก่อกำเนิดของมนุษย์ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างจาร์กาตาที่คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์และอาคารสูง รวมถึงมลพิษที่ทวีคูณขึ้นทุกขณะ ประกอบกับสำนึกในการใช้ชีวิตแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่น้อยลง ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ แต่หลายคนยังคงไม่รู้ตัว… สองศิลปินเดินทางไปถ่ายทำส่วนหนึ่งของมิวสิกวิดีโอเพลง Colony Collapse ในสถานที่ที่เกิดภูเขาไฟโคลน และทำให้คนกว่า 30,000 ชีวิตต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นนับแต่ปี 2006 โดยงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการขุดเจาะของบริษัทแก๊ซและน้ำมัน Lapindo Brantas ทว่าบริษัทกลับปฏิเสธและอ้างว่าเป็นสถานการณ์ทางธรรมชาติ

อีพี Colony Collapse ทำให้เราเห็นภาพสะท้อนทางความเจริญที่แปรสภาพมาเป็นสิ่งไร้ค่า ความสะดวกสบายที่กลายเป็นโรงงานผลิตมลพิษร้าย ซึ่งย้อนกลับมาทำร้ายชาวอินโดนีเซียเอง มีท่อนหนึ่งในเพลงที่โนวาร้องเป็นภาษาชวาว่า “If we want to be honest/The earth is coming to an end/No one can control humans/The rice has now become porridge.”  ไม่เพียงแต่รัฐบาลที่เพิกเฉยหรือมีความใส่ใจเพียงน้อยนิด หากประชาชนในประเทศเองยังละเลย ซึ่งทั้งโนวาและเกรย์หวังว่า เรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้ ดูมิวสิกวิดีโอนี้แล้วก็ทำให้นึกย้อนมองประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกันเลย

(อีพี Colony Collapse ผลิตภายใต้ค่ายเพลง Post World Industries)

[youtube url=”http://youtu.be/csbUZCijG2w” width=”600″ height=”335″]