Dr Sarmast’s Music School ฟื้นฟูจิตใจและวัฒนธรรมในอัฟกานิสถาน

เมื่อบทเพลงจะเบ่งบานในแผ่นดินที่ดนตรีเคยเป็นสิ่งต้องห้าม ได้กลับมาเยียวยาหัวใจผู้คนอีกครั้ง…

ย้อนกลับไปในปี 1992 สงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อมานับสิบปีและกลุ่มตะลิบันที่เข้ายึด ทำให้อัฟกานิสถานเข้าสู่ความตกต่ำไปทั่วทุกหัวหาดมุมเมืองทั้งภาครัฐและประชาชน หนึ่งในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็คือ ดนตรีกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศ ห้ามมีการละเล่นดนตรี ห้ามมีการเรียนการสอน สถาบันดนตรีถูกปิด เครื่องดนตรีถูกทำลาย นักดนตรีต้องเลิกอาชีพ ต้องเลิกเล่น ไม่ก็ถูกเนรเทศหรือต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ดร.อาหมัด ซาร์มาสต์ บุตรชายของอุสตาด ซาลิม ซาร์มาสต์ ไวทยากรชื่อดังประจำประเทศ

หากฟ้ามืดย่อมมีวันสว่าง เมื่อการคานอำนาจและปราบตะลิบันใกล้ประสบความสำเร็จโดนสมบูรณ์ กฎอำมหิตที่ห้ามมีดนตรีในอัฟกานิสถานถูกยกเลิกในปี 2001 แต่ยังไม่มีใครเข้าพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในสายดนตรี ดร.ซาร์มาสต์ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียนานถึง 15 ปี เดินทางกลับปิตุภูมิอีกครั้ง และริเริ่มโครงการสร้าง สถาบันดนตรีแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghanistan National Institute of Music – ANIM) ในปี 2007 ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการของอัฟกานิสถาน โดยฟื้นฟูสถาบันวิจิตรศิลป์ของคาบุลให้เป็นอาคาร จนกระทั่งเปิดการเรียนการสอนได้ในปี 2009 และรับนักเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่หากินตามท้องถนนหรือเด็กกำพร้า ให้ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและร่วมพัฒนาดนตรีของประเทศต่อไปในอนาคต และเมื่อถึงปี 2013 สถาบันแห่งนี้มีนักเรียนที่เป็นเด็กผู้หญิงถึง 50%

เพียง 6 ปี แต่โครงการของสถาบันดนตรีแห่งชาติภายใต้การดูแลของดร.ซาร์มาสต์ได้ก่อกำเนิดสิ่งดีงามให้กับอัฟกานิสถานหลายอย่าง ไม่เพียงแต่นำดนตรีกลับมาสู่ประเทศ ให้โอกาสเด็กที่ยากไร้ขาดแคลนและผู้คนที่หมดหวัง แต่ยังเปิดโอกาสให้กับเด็กผู้หญิง เพศที่เราทราบกันดีว่า ปกติมีที่ยืนแคบกว่าผู้ชายสำหรับพื้นที่ละแวกนี้

ดร.ซาร์มาสต์ไม่ได้หวังเพียงเท่านั้น เขายังมีเป้าหมายใหญ่กว่า คือ การใส่ดนตรีเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนหลัก ให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ดนตรีเท่าๆ กันโดยไม่แบ่งแยกเพศ ฐานะ หรือเชื้อชาติ เพื่ออนาคตของวัฒนธรรมประเทศ รวมถึงการสร้างวงออร์เคสตราเหมือนที่พ่อเขาเคยทำ การสร้างโรงมหรสพสำหรับดนตรีโดยเฉพาะ และการสร้างหอพักให้กับนักเรียนนักศึกษาที่กำพร้า เหล่านี้ล้วนเป็นโครงการที่ต้องอาศัยเวลา แต่ดร.ซาร์มาสต์ก็ไม่ย่อท้อ เพราะนับวันเขามีกองทัพทางดนตรีที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งภาครัฐที่ดีกว่าเก่าและภาคเอกชนในระดับนานาชาติที่ร่วมสมทบทั้งเงินทุนและอุปกรณ์ทางดนตรี อาทิ ธนาคารโลก และองค์กรทูตจากประเทศต่างๆ ทั้งอเมริกา เยอรมี ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์

และเมื่อเป็นเรื่องดีๆ ของคนดีๆ ที่ต้องการทำสิ่งดีๆ เพื่อประเทศชาติ โครงการสถาบันดนตรีแห่งชาตินี้จึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีในชื่อ Dr Sarmast’s Music School ในกลางปี 2012 ถ่ายทอดโดยมุมมองของผู้กำกับพอลลี่ วัตกินส์ จากออสเตรเลีย ประเทศที่ดร.ซาร์มาสต์ลี้ภัยและร่ำเรียนศาสตร์แห่งดนตรีมาตลอด 15 ปีแห่งความตกต่ำในอัฟกานิสถานนั่นเอง

เขียนเรื่องนี้แล้วก็อดนึกถึงบทกวีตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่พ่อปู่สุนทรภู่ประพันธ์ไม่ได้ – ‘…อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์’ – ดนตรีไม่ได้มีไว้เพียงแค่ฟัง หากเรารู้จักใช้อย่างฉลาด เห็นท่าจะจริง

[youtube url=”http://youtu.be/b7l2vWXxCmU” width=”600″ height=”340″]

ตัวอย่างภาพยนตร์สารคดี Dr Sarmast’s Music School

[youtube url=”http://youtu.be/p_-AEVuYQ00″ width=”600″ height=”340″]

รายละเอียดภาพยนตร์สารคดี Dr Sarmast’s Music School

ดร.อาหมัด ซาร์มาสต์

อ้างอิง : สถาบันดนตรีแห่งชาติอัฟกานิสถานAljazeera, ABC