Love Music Hate Racism ศิลปินโลกหนุนแคมเปญยุติการเหยียดสีผิว

ดนตรีดีๆ ไม่ได้วัดกันที่ศิลปินหรือแนวเพลง แต่ดนตรีที่ดีคือ ‘ดนตรีที่ไร้ขอบเขต ไม่ปิดกั้น ไม่แบ่งชนชั้น หรือแยกสีผิว’ ซึ่งนั่นคือที่มาของโครงการ Rock Against Racism ที่ต่อยอดมาถึง Love Music
Hate Racism
 ในปัจจุบัน

เทคโนโลยีอาจพัฒนาการไปไกล แต่จิตใจยังตกต่ำ และปัญหาการเหยียดสีผิวและแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมยังมีสูง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดข้ามเชื้อชาติหรือแม้แต่เหยียดกันเอง หลายคนรู้ว่าเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดี แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร กระทั่งศิลปินคนดัง เอริก แคลปตัน ออกมาสนับสนุนแนวคิด ชาตินิยมขาว (White Nationalism) และพูดบนเวทีคอนเสิร์ตในปี 1976 ชวนผู้คนลงคะแนนเสียงให้รัฐมนตรีอีน็อค พาวล์ เพื่อปกป้องสหราชอาณาจักรไม่ให้กลายเป็นอาณานิคมคนดำ ทั้งใช้คำพูดที่สื่อถึงการขับไล่คนชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนอังกฤษออกจากประเทศ

ถึงตอนนี้ เอริก แคลปตัน สำนึกแล้วว่าตนทำผิด แต่ ณ เวลานั้น เร้ด ซอว์นเดอร์ส และเพื่อนไม่รอช้า พวกเขาสร้างแคมเปญ Race Against Racism (RAR) ขึ้นมาทันที พร้อมตอบโต้ทุกศิลปินที่ประกาศเหยียดสีผิวหรือร่วมแนวคิดนาซี/ฟาสซิสม์ (รวมเดวิด โบวี่ ณ เวลานั้น) เริ่มจากการจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ พร้อมประกาศแคมเปญ จนขยายเป็นเทศกาลดนตรีในปี 1978 ซึ่งภายใน 1 ปี RAR สามารถจัดเทศกาลที่มีคนดูหลายหมื่นถึง 4 ครั้ง พร้อมการสนับสนุนของศิลปินตัวเอ้ในยุคนั้น อาทิ The Clash, Buzzcocks, Sham 69, Generation X, เอลวิส คาสเตลโล่ เป็นต้น

กระแสของ RAR ค่อยจางหายไป หลังจากให้บทเรียนคนปากเก่งผู้คิดผิดทั้งหลาย แต่พอถึงปี 2002 กลุ่มที่เคยร่วมทำ RAR ก็กลับมาใหม่ในนาม Love Music Hate Racism (LMHR) โดยยังคงคอนเซ็ปต์เดิมและมีเทศกาลดนตรีใหญ่ในแมนเชสเตอร์ที่นำโดยวง Doves และแร็ปเปอร์หญิง Ms. Dynamite ก่อนที่นิตยสารดนตรี NME จะปั่นกระแสอีกครั้งจนกลายเป็นแคมเปญใหญ่โตในปี 2007 เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของ RAR

ปัจจุบัน LMHR จัดกิจกรรมทางดนตรีมาแล้วกว่า 400 ครั้ง และในวาระที่ LMHR ครบรอบ 10 ปีในปี 2012 นี้ พวกเขาพร้อมจัดงานใหญ่ในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึง ไม่เพียงแต่เฉลิมฉลองให้กับองค์กรและแนวคิดที่ยึดมั่นมานาน แต่ยังหวังให้กระแสรณรงค์ ‘ยุติการเหยียดสีผิว’ ขจรไกลไปอีกครั้ง โดยศิลปินที่เข้าร่วมไม่เพียงแต่เป็นนักดนตรี หากขยายไปสู่นักเขียน นักกวี นักรณรงค์ และผู้สนับสนุนในสายงานอื่นๆ

เราชาวไทยไปร่วมงานไม่ได้  แต่เราสามารถสนับสนุนแคมเปญนี้ด้วยจิตสำนึกง่ายๆ … “อย่ามองว่าเขาเป็นใคร สีผิวไหน แต่จงเห็นด้วยใจและพิจารณาว่า เขาเป็นอย่างไร” — นั่นต่างหากใจความของการเป็นมนุษย์

 

การแสดงของ Clash ในเทศกาลดนตรีของ RAR ที่วิคตอเรีย ปาร์ค กรุงลอนดอน วันที่ 30 เมษายน ปี 1978 (คนเขียนยังไม่เกิด แต่ดูแล้วมันมาก)

[youtube url=”http://youtu.be/UqJziLpnkEU” width=”600″ height=”335″]

 

ทิม เบอร์เจส นักร้องนำและหัวหอกของ The Charlatans วงบริตร็อคชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ แต่งเพลง Blank Heart Blank Mind ให้กับแคมเปญ LMHR เมื่อครั้งโปรโมทแคมเปญร่วมกับนิตยสาร NME ในปี 2007 (เวอร์ชั่นจริงเป็นร็อคสนุกๆ)

[youtube url=”http://youtu.be/ZXrSQ8clo8M” width=”600″ height=”335″]

 

ขบวนผู้ชมคอนเสิร์ตที่รวมตัวกันเดินเท้าจากทราฟัลการ์สแควร์ไปวิคตอเรียปาร์คพร้อมแสดงจุดยืนของ RAR (เครดิตภาพ : © Richard Arridge)

เครดิตภาพ : © Richard Arridge

X-Ray-Spex บนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ของ RAR ในปี 1978 (เครดิตภาพ : © Andy Wilson)

เจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยระหว่างการเดินรณรงค์แคมเปญ (เครดิตภาพ : © Andy Wilson)

ชาวผิวสีที่มักถูกต่อต้านก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมของ RAR และชมคอนเสิร์ต (เครดิตภาพ : © Scarcely)

ปกนิตยสาร NME ช่วงปี 2006-2007 ที่เริ่มออกตัวสนับสนุนแคมเปญ หลังจากเคยได้รับจดหมายแถลงการณ์ของเร้ด ซอว์นเดอร์ส ที่ต่อต้านคำพูดของเอริก แคลปตัน ในปี 1976

เครดิตภาพ : The Edit

การจัดงานครบรอบ 10 ปีของ LMHR ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน รวบรวมเอาศิลปินทุกแขนงมาร่วมแสดงและแสดงจุดยืนต่อแคมเปญแบบไม่แบ่งแยก

อ้างอิง : Love Music Hate Racism, UK Rock Festivals