‘Music & Memory’ คืนชีวิตผู้ป่วยความจำเสื่อมด้วยดนตรีและ iPod

หลายคนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาบุคคลใกล้ชิดประสบภาวะอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม จำไม่ได้แม้แต่คนที่สำคัญที่สุดหรือเรื่องราวที่ดีที่สุดในชีวิต ทั้งอาจจำไม่ได้แม้แต่ตัวเองทว่าวันนี้เรามีความหวังใหม่ที่จะคืนชีวิตอันสวยงามให้กับพวกเขา โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างเสียงดนตรีที่พวกเขาคุ้นเคยและเทคโนโลยีดิจิตัลในปัจจุบัน

‘มิวสิคแอนด์เมมโมรี่’ (Music and Memory) เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรในอเมริกา ที่ใช้พื้นฐานทางจิตวิทยารวมเข้ากับคุณประโยชน์ของดนตรีที่สามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงบวก แต่ครั้งนี้ดนตรีจะถูกนำเสนอผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเยียวยาผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ โรคความจำเสื่อม หรืออยู่ในภาวะการรับรู้ทางสภาวะจิตและร่างกายเสื่อมถอย

ความคิดนี้มีจุดเริ่มต้นจากแดน โคเฮน เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เขาถามตัวเองว่า หากบั้นปลายชีวิตของตนจบลงที่บ้านพักคนชรา เขาจะอยากได้หรืออยากทำอะไรที่สุด “ผมอยากฟังเพลงจากยุค 60 ที่ผมชอบ” ประจวบเหมาะกับที่ช่วงเวลานั้น กระแสความนิยมของไอพ็อดกำลังมาแรง โคเฮนจึงเกิดความคิดต่อมา ที่ต้องให้คนชราหรือผู้ป่วยได้ฟังเพลงที่พวกเขาเคยโปรดปราน โดยตั้งสันนิษฐานว่า มันอาจจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความสุขได้อีกครั้ง

โคเฮนสำรวจว่า บ้านพักหรือสถานที่รับดูแลผู้ป่วยหรือคนชรากว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีที่ไหนใช้ไอพ็อดเป็นสื่อเหมือนที่เขาคิด จึงเดินหน้าโครงการจริงจังด้วยการลงทุนเป็นอาสาสมัครในบ้านพักคนชรา ทดลองทำเพลย์ลิสต์ใส่ไอพ็อด แล้วนำไปให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านพักฟัง ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากทั้งผู้เฒ่า ครอบครัวของพวกเขา รวมไปถึงผู้ดูแล นั่นเป็นการตอบโจทย์ว่า ไอพ็อดและเครื่องเล่นเพลงแบบใหม่เป็นที่สนใจของคนทุกรุ่น จากนั้น โคเฮนจึงระดมทุน พร้อมรับบริจาคทั้งไอพ็อดเก่าและใหม่ สร้างเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับผู้ป่วย และทดสอบการฟังกับกลุ่มเป้าหมายในบ้านพักคนชราอีก 4 แห่ง จนได้ผลที่แน่ชัดว่า การฟังเพลย์ลิสต์ที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น และก่อตั้งองค์กรในปี 2010 เพื่อขยายฐานการรักษาโดยใช้ดนตรีบำบัดนี้ให้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

วิธีดำเนินการของ ‘มิวสิคแอนด์เมมโมรี่’ เริ่มจากการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ประสบปัญหาการรับรู้ดังกล่าว รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่ทำการดูแล และผู้ที่มาลงทะเบียนไว้ ให้เรียนรู้การจัดทำเพลย์ลิสต์ส่วนตัวที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้นๆ เช่น เพลงคลาสสิคที่ได้รับการวิจัย เพลงโปรดของผู้ป่วย เพลงที่สะท้อนความทรงจำหรือเรื่องราวพิเศษๆ ในอดีต ฯลฯ เมื่อเพลงเหล่านี้จะได้รับการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบลงไอพ็อดหรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นสื่อ แล้วนำไปเปิดให้ผู้ป่วยฟัง มันจะเข้าไปกระตุ้นสมองในส่วนที่ยังไม่ได้สูญเสียไปให้กลับฟื้นคืนชีพ มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาในผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันและมีหลายระดับ อาทิ ผู้ป่วยสามารถเชื่อมต่อตัวเองกับสังคมปกติได้ ภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้น มีพัฒนาการในการรับรู้ การสื่อสาร และการเข้าสังคม ในบางรายยังช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวหรือระหว่างเครือญาติได้ด้วย

ทุกวันนี้ ‘มิวสิคแอนด์เมมโมรี่’ จัดเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีการนำเรื่องราวของพวกเขาไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Alive Inside’ ผ่านการระดมทุนส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์คิกสตาร์ทเตอร์ ภาพยนตร์กำกับโดย ไมเคิล รอสซาโต-เบนเนต และในปี 2014 นี้ ‘Alive Inside’ ก็ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซโดนา เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซีแอตเติล และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองมิลานมาแล้ว

ส่วนเราเองที่อยู่ในประเทศไทย จะลองนำหลักการของ ‘มิวสิคแอนด์เมมโมรี่’ ไปปรับใช้ก็ไม่เสียหลาย โดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยดนตรีแนวที่ผู้ป่วยชอบ — อาจจะได้ผลมากกว่าที่คาดก็ได้ ใครจะรู้

[youtube url=”http://youtu.be/fyZQf0p73QM” width=”600″ height=”340″]

กว่า 10 ปีที่เฮนรี่สูญเสียความทรงจำ เขาไม่พูดกับใครและไร้การสื่อสารด้านอื่นๆ แต่เมื่อได้รับการรักษาจาก Music and Memory ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป…

อ้างอิง: Music and Memory, Sundance Film Festival, Kickstarter, SCPR