‘ช่างพูด-ช่างคุย-ช่างทำ’ หุ่นยนต์ไทยเปลี่ยนชีวิตเด็กออทิสติก

เด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษ คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่­อสาร ภาษา และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการได้รับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งพฤติกรรมของเด็กที่กลัวการสื่อสารโดยตรงกับคนทั่วไป ทำให้ความสามารถในการสื่อสารไม่พัฒนา ซึ่งส่งผลต่อไปถึงการเรียนรู้ของพวกเขา

เป็นเหตุให้ผศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมนักวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้น 3 ตัวคือ ช่างพูด, ช่างคุย และ ช่างทำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก โดยหุ่นยนต์ ‘ช่างพูด’ ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นการพัฒนาการพูด การออกเสียงของเด็กออทิสติกหรือเด็กบกพร่องอื่นๆ รวมถึงเด็กปกติที่อาจพูดไม่ชัด โดยหุ่นยนต์จะออกเสียงและให้เด็กพูดตาม แต่เนื่องจากหุ่นยนต์ตัวนี้ไม่มีการขยับปากให้เห็น จึงทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ ‘ช่างคุย’ ขึ้น โดยคราวนี้ ‘ช่างคุย’ มาพร้อมแท็บเล็ตที่ถูกติดตั้งไว้ด้านหน้าเพื่อแสดงรูปการขยับปากในขณะที่ออกเสียงพูด ส่วนหุ่นยนต์ ‘ช่างทำ’ เป็นหุ่นยนต์ที่เน้นการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารของเด็กออทิสติก โดยหุ่นยนต์จะแสดงท่าทางแล้วให้เด็กแสดงท่าทางเลียนแบบ เช่น ยกมือขวา กางแขน เมื่อเด็กสามารถทำท่าได้ถูกต้องตามคำสั่ง หุ่น ‘ช่างทำ’ ก็จะชื่นชม แต่หากผิดก็ให้โอกาสทำใหม่อีกครั้ง ในขณะเดียวกันหุ่นยนต์ก็สามารถเลียนแบบท่าทางของเด็กได้ด้วย

นอกจากหุ่นยนต์ดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในกิจกรรมการบำบัดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสานสัมพันธ์กับเด็กให้มีกิจกรรมทำร่วมกันผ่านหุ่นยนต์เหล่านี้ เพื่อช่วยกระตุ้นทักษะการสื่อสารของเด็กออทิสติกให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม

สำหรับงานวิจัยหุ่นยนต์ดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศและ Special Prize ในงาน 41st International Exhibition of Inventions ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และรางวัล Special Prize จากประเทศไต้หวันด้วย

อ้างอิง : Youtube