ชุบชีวิตข้าวญี่ปุ่นเมือง Inakadate เที่ยวด้วย Art ช็อปด้วย App

หมู่บ้านอินะคะดาเตะ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ ศิลปะบนนาข้าวหรือ ‘Rice Paddy Art’ เกิดจากนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีสีที่ไม่เหมือนกันมาสร้างเป็นศิลปะ แต่ละปีจะทำเป็นธีมที่ไม่เหมือนกัน บางปีก็เป็นภาพสไตล์ญี่ปุุ่น บางปีก็เป็นศิลปะแบบสากล เช่น ภาพโมนาลิซ่า หรือ นโปเลียน

ในแต่ละปีหมู่บ้านอินะคะดาเตะจึงดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนทุ่งนาเป็นผืนผ้าแห่งศิลปะนี้นั้นทางหมู่บ้านอินะคะดาเตะเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1993 โดยเมื่อตอนเริ่มต้นการปลูกข้าวสีต่างๆ ที่ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนอย่างในปัจจุบัน เริ่มต้นมีเพียงสีเหลืองและสีม่วงซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ต่อมาก็ได้พัฒนาสีข้าวใหม่ๆ อาทิ สีส้ม หรือสีเขียวเข้มในภายหลัง ในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักถึงกับมีสถานีรถไฟที่ชื่อ Rice Art Station เลยทีเดียว

จุดที่น่าสนใจจุดหนึ่งคือมุมมองความคิดสร้างสรรค์ที่พยายามเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตรด้วยศิลปะ ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่าให้กับเมือง คอนเซ็ปต์แบบนี้เราเคยเห็นแล้วในเมืองไทยที่ฟาร์มโชคชัย ที่เปลี่ยนมุมคิดจากฟาร์มปศุสัตว์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดรายได้ใหม่มหาศาล แต่ที่หมู่บ้านอินะคะดาเตะนี้มีจุดที่ลึกซึ้งอีกอย่างคือ การที่จะสร้างศิลปะขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นปีละไม่กี่วันแบบนี้ได้นั้น ต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวเมืองให้มาช่วยกันสร้างให้มันเกิดขึ้น แต่ละปีมีชาวบ้านที่มีเพียง 8,000 กว่าคนจึงมาร่วมแรงร่วมใจช่วยกันปักกล้า รอวันที่ศิลปะจะค่อยๆ เปลี่ยนสี เป็นความภุมิใจของเมือง เกิดความสามัคคี สร้างความหวงแหนพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และอนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวอินะคะดาเตะที่ยังพึ่งพาเกษตรกรรมอย่างการปลูกข้าวให้อยู่ต่อไป

แต่เนื่องจากแต่ละปี การบริโภคข้าวในญี่ปุ่นนั้นก็ยังถูกลดบทบาทไปเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งมาจากกระแสการบริโภคแบบตะวันตก หมู่บ้านอินะคะดาเตะก็ประสบปัญหาการสั่งซื้อข้าวเช่นกัน แต่ด้วยการที่มีพื้นฐานด้านชื่อเสียงที่ดีอย่างการท่องเที่ยวศิลปะบนนาข้าว และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสมาร์ทโฟน ที่ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นใช้ถ่ายรูปอวดโซเชียลเน็ตเวิรค์หรือใช้สแกนสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ในปีนี้ทางหมู่บ้านอินะคะดาเตะจึงต่อยอดการท่องเที่ยวด้วยการออกแอพฯ บนมือถือชวนนักท่องเที่ยวให้มาดาวน์โหลด ที่นอกจากจะมาเที่ยวชมแล้ว ยังสามารถใช้แอพฯ นี้แสกนรูปภาพที่อยู่บนนาข้าว แล้วสามารถอุดหนุนสั่งซื้อข้าวจากเมืองนี้พร้อมส่งถึงบ้านได้ทันที ถือว่าเป็นมุมมองความคิดสร้างสรรค์ On Top ขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ

สรุปเรื่องราวของหมู่บ้านอินะคะดาเตะสอนเราเรื่องความคิดสร้างสรรค์อยู่สองอย่าง เรื่องแรก คือการเปลี่ยนมุมมองเพื่อหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนความคิดจากผืนนาธรรมดาให้เกิดมูลค่าเพิ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่สองคือ ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ เมื่อสบโอกาสใหม่ๆ อย่างเช่นเทรนต์สมาร์ทโฟน เราก็สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์เดิมให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น

[vimeo url=”http://vimeo.com/89442369″ width=”600″ height=”340″]

 

นาข้าวนี้สามารถมองเห็นได้แม้ใน Google Maps

อ้างอิง : Inakadate , The Asahi Shimbun, Daily Art Fixx