สตรีทอผ้าศรีดอนชัย กลุ่มผ้าทอที่ไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง

เพราะผ้าทอคือหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาติ ด้วยเหตุนี้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงเลือกให้ชุมชนทอผ้าในจังหวัดน่านเป็นหนึ่งในโมเดลของการพัฒนาอาชีพไปสู่รูปแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะการพัฒนารูปแบบของการท่องเที่ยวในแนวคิดของอพท.นั้น ไม่ได้ต้องการให้ความสุขเกิดแค่เพียงกับนักท่องเที่ยวแต่หัวใจสำคัญคือชาวบ้านเองก็ต้องมีความสุขด้วย รวมทั้ง อพท. ยังมีเป้าหมายที่อยากจะช่วยพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนให้สามารถขยายขีดความสามารถไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคมได้ มีรายได้ที่ชัดเจน อันจะนำพาไปสู่การทำประโยชน์เพื่อตัวเองและสังคม และนั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปศึกษาต้นแบบกิจการเพื่อสังคมในชุมชนขนาดต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับชุมชนทอผ้าในจังหวัดน่าน โดยชุมชนแรกคือกลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัยในจังหวัดเชียงราย ที่เชื่อไหมว่า ชุมชนต้นแบบอันเป็นธุรกิจในระดับเล็กที่สุดซึ่งคุณกำลังจะได้รู้จักนี้ เริ่มต้นจากสมาชิกเพียง12คนกับเงินตั้งต้น 8,000บาท สู่การขยายตัวโดยปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 240คน กับเงินออมในกองทุนที่มีอยู่4ล้านกว่าบาท ซึ่งแน่นอน ตัวเลขหลักล้านนี่ไม่ได้ถูกเสกมา มันอาศัยกระบวนการทำงาน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชุมชน การไม่นั่งรอความช่วยเหลือ แต่ยืนได้ด้วยความสามารถของการพึ่งพาตัวเอง

แม่แว่นแก้ว ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัยเล่าให้เราฟังว่าครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปดูงานชุมชนทอผ้าที่เชียงใหม่ก็เกิดแรงบันดาลใจย้อนกลับมามองในรากเหง้าของตัวเองว่า

‘เอาเข้าจริง พื้นฐานหมู่บ้านเราก็เป็นชาวไทยลื้อซึ่งทอผ้าใส่เองอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว งั้นทำไมเราไม่ตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมาล่ะ’ ?

จากวันนั้น แม่แว่นแก้วก็พยายามรวมรวมสมาชิก ซึ่งในช่วงแรกๆก็ยังไม่มีใครสนใจสักเท่าไหร่เพราะต้องยอมรับว่านี่คือเรื่องใหม่มากสำหรับคนทั้งหมู่บ้าน! สุดท้ายมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด12คนพร้อมงบตั้งต้นจากส่วนของพัฒนาชุมชน 8พันบาท จึงเริ่มมรการจัดหาช่องทางการขายด้วยการนำไปฝากขายไว้ที่บ้านของแม่แว่นแก้วซึ่งเป็นร้านขายของชำอยู่แล้ว และอีกส่วนก็นำไปฝากขายไว้ที่ศูนย์สาธิตของอำเภอ และต่อมา กลุ่มพัฒนาชุมชนก็นำผ้าออกไปทำการประชาสัมพันธ์นอกพื้นที่ กระทั่งจนมีคนรู้จักผ้าทอของศรีดอนชัยเพิ่มมากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

หนึ่งปีต่อมา จากสมาชิก12คนก็กลายเป็น20คน และ50คนในปีถัดมา จึงถึงเวลาแก่การขยับขยายพื้นที่ทอผ้าโดยได้งบพัฒนาจังหวัดมาช่วยสำหรับการสร้างอาคาร แต่ปัญหาคือเรื่องของที่ดินสำหรับการสร้างอาคารนี่สิ! ซึ่งต้องหาเอง โดยสุภาษิตที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นดูน่าจะใช้ได้กับทุกสังคม ทุกอาชีพ ในขณะนั้นสมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัยขยับตัวขึ้นไปถึง214คน และพร้อมใจกันใช้วิธีการบริจาคผ้าถุงที่ตัวเองทอ ซึ่งปกติจะทอได้ในราคาตกผืนละ 200-300บาท เข้ามาไว้ในกองกลาง และกอกลางก็นำจัดจำหน่ายขายออกไปในราคาผืนละห้าร้อยบาทเพื่อหารายได้หลังการหักลบและคืนให้กับชาวบ้านในส่วนต่างแล้ว  จะนำเงินไปซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคาร

ในแง่ของการบริหารนั้น เมื่อสมาชิกของกลุ่มทอผ้ามีอยู่ถึงสองร้อยกว่าคนก็ต้องมีการแบ่งเขตออกเป็น 9เขต มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเลือกประธานและกรรมการบริหาร มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์สำหรับเงินออมเพื่อไว้ใช้ยามแก่เฒ่า  และอีกส่วนก็เพื่อออมไว้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่ม โดยการออมทรัพย์ในสมัยเริ่มต้นเริ่มออมกันที่ 25บาทและขยับมาเป็น 30บาท โดยแต่ละคนจะออมเท่าไหร่ก็ได้แต่ต้องเริ่มต้นที่30บาท จนพอเงินออมเยอะขึ้น กลุ่มออมทรัพย์ก็สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกได้ มีการคิดดอกเบี้ยร้อยละ1บาทต่อเดือน และในระเบียบของการกู้นั้น อนุญาติให้สมาชิกกู้ได้ห้าเท่าของเงินฝากแต่ไม่เกินสี่หมื่นบาท ปัจจุบันกองทุนแห่งนี้มีเงินออมอยู่สี่ล้านกว่าบาทและมีเงินของกลุ่มทอผ้าที่ปันดอกปันผลออกมาแล้วอยู่ที่ประมาณสองแสนกว่าบาท โดยทุกสิ้นปีจะมีการปันดอกเบี้ยให้กับสมาชิก ใช้วิธีการแบ่งจากเงิน 100 บาท เฉลี่ยคืนให้กับคนที่กู้ไป 20 เปอร์เซ็น และแบ่งให้สมาชิกที่มาทำงานในส่วนของกองทุนออมทรัพย์ 15 เปอร์เซ็น และนำมาจัดแบ่งสรรปันส่วนคืนให้กับสมาชิก 60 เปอร์เซ็น  ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายบำรุงซ่อมแซมสถานที่และสมทบงานบุญหรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ  เรียกว่าจากรายได้ของการทอผ้านำไปสู่การช่วยเหลือตัวเองของกลุ่มสมาชิกและขยายผลเผื่อแผ่ไปสู่การช่วยเหลือชุมชน

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่ลงมือทำ’ กลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัยในจังหวัดเชียงรายคือหนึ่งตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมกับธุรกิจขนาดเล็ก คราวหน้าเราจะพาไปพบกับกิจการเพื่อสังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้น

เรื่องของการพัฒนาไม่ใช่เรื่องยาก แต่พัฒนาแบบยั่งยืนนี่สิ มันใช้เวลาและการรอคอย แต่ถ้าคุณมีความอดทนพอ เชื่อเถอะ การรอคอยมันคุ้มค่าจริงๆนะ !


เพราะผ้าทอคือหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาติ ด้วยเหตุนี้