Bottle House บ้านขวดกันความร้อน…แก้ปัญหาด้วยปัญญา

ขวดขยะที่กลาดเกลื่อนในประเทศ กลายเป็นของมีค่าด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยรีไซเคิลบรรจุอีกครั้ง ลองคิดกันเล่นๆ ว่าประเทศไทยเรามีประชากร 65 ล้านคน หากดื่มน้ำแค่วันละ 2 ขวดด้วยขวดที่ไม่อาจนำกลับมาใช้ใหม่จนมันกลายเป็นขยะรายวัน เราจะมีขยะวันละ 130 ล้านขวดเลยทีเดียว แล้วเราควรจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

สำหรับขวดบางประเภท การใช้ขวดเก่ามาบรรจุใหม่จะมีต้นทุนสูงกว่า เพราะขวดแก้วยังมีราคาถูกอยู่ อาจจะลองหาอีกวิธีเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นส่วนประดับประดาต่างๆ ในงานออกแบบ เช่น กระเบื้องหินขัดจากเศษแก้ว เม็ดเศษแก้วเข้าไปแทนที่เม็ดกรวดก็ดูเก๋ไปอีกแบบ หากยังคิดวิธีรีไซเคิลขวดขยะประเภทนี้ไม่ออก ขอเสนอวิธีแก้ปัญหาจากบ้านหลังนี้ละกัน

ผิวอาคารบ้านเรือนเก๋ๆ จากเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียหลังนี้ เริ่มจากสถาปนิกได้พบเห็นขวดเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งเป็นขยะเกลื่อนจำนวนมาก จึงได้คิดจะนำมันมาเพิ่มคุณค่า โดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมซะเลย แต่ในเมื่อเป็นบ้านของสถาปนิกเอง จะดัดแปลงเอามาใช้ทื่อๆ ตรงๆ ก็คงจะไร้ลีลาของนักออกแบบไปหน่อย ‘บ้านขวด’ ของสถาปนิกแดนอิเหนา Ridwan Kamil เจ้าของสำนักงานสถาปัตย์ URBANE ในสไตล์ tropical modern ที่เราคุ้นตา จะให้ผิวบดบังที่ว่างภายในจากแสงจัดจ้าของเมืองร้อนด้วยผนังไม้ระแนงสีเข้มวางเรียงไปที่ผิวนอก เกิดประโยชน์ในแง่ลดการใช้พลังงาน และในแง่สุนทรียศาสตร์มันช่วยควบคุมจังหวะของระนาบภายนอกไม่ให้เลี่ยนจากการซ้ำกันจนเกินไป เพียงแต่ในคราวนี้สถาปนิกไม่ได้ประดิษฐ์มันจากไม้ระแนง แต่นำขวดสีน้ำตาลเข้มวางลวดลายให้ซ้อนไปกับผนังชั้นใน โดยได้ทำการทดลองนำขวดมาเรียงเป็นผนังให้กลายเป็น double skin กับบ้านเขาเอง แบบที่เราจะพบได้ในสถาปัตยกรรมเมืองร้อนเก๋ๆ ไม่ง้อรอวัสดุแพงชนิดต้องสรรหานำเข้ามาให้เปลืองเงินแต่อย่างใด

‘ปัญหา’ หากมองมุมบวก แก้มันให้ถูกทาง ก็กลายเป็น ‘ปัญญา’ได้เสมอ

อ้างอิง: Modern House DesignGreen Architecture