‘หลังคาทรงชาม’ นวัตกรรมหลังคาช่วยเก็บน้ำสำหรับบ้านในทะเลทราย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขาดแคลนนั้นนำมาซึ่งปัญหา แต่ในอีกทางหนึ่งความขาดแคลนก็กระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอันนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากความขาดแคลน คือ หลังคาทรงชาม (Bowl-shaped Roof) นวัตกรรมหลังคารูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ที่อยู่อาศัยในทะเลทราย ออกแบบโดย BMDesign Studios บริษัทออกแบบสัญชาติอิหร่าน

ด้วยความที่ในพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบร้อนแห้ง ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าหนึ่งในสามของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะที่มีอัตราการระเหยของน้ำสูงเป็นสามเท่าของค่าเฉลี่ยอัตราการระเหยของน้ำทั่วโลก ผู้ออกแบบจึงมีความต้องการให้หลังคาลักษณะนี้สามารถเก็บน้ำฝนให้มากที่สุดและเร็วที่สุดก่อนที่มันจะระเหยไป โดยน้ำฝนจะไหลเข้ามาภายในปากของหลังคาทรงชามนี้ ก่อนที่จะไหลรวมเป็นจุดเดียวไปสู่ถังเก็บน้ำที่มีการเตรียมไว้ โดยหลังคาทรงชามนี้จะตั้งซ้อนอยู่บนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นหลังคาสองชั้นจะช่วยให้การป้องกันความร้อนจากแดดเข้าสู่ภายในอาคารสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นต้นแบบและยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการสร้างให้เกิดขึ้นจริง โดยในระหว่างนี้ผู้ออกแบบได้ทดลองออกแบบสถาปัตยกรรมต้นแบบที่มีการนำเทคโนโลยีชนิดนี้ไปใช้ โดยเป็นโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยห้องต่างๆ มาวางเรียงกันล้อมคอร์ทยาร์ด 2 คอร์ท ภายในประกอบด้วยหลังคาทรงชามทั้งหมด 12 ชิ้น คิดเป็นปริมาณน้ำที่เก็บได้ราว 28 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมดที่คาดว่าโรงเรียนแห่งนี้จะใช้ โดยโรงเรียนลักษระนี้สามารถนำไปประยุกต์สร้างในหลายท้องที่ที่มีภูมิอากาศแห้งแล้งเช่นเดียวกันนี้

03

04

05

06

07

08

ที่มา : archdailyinhabitat