เมื่อบริษัทสถาปนิกรุ่นใหม่อย่าง Sharon Davis Design ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในเมืองใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์ค ได้รับโจทย์ที่ท้าทายทักษะการออกแบบเป็นอย่างมาก โดยจะต้องออกแบบศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับสตรี 300 คน ในเมือง Kayonza ประเทศรวันดา ความท้าทายครั้งนี้นอกจากที่จะต้องออกแบบสถาปัตยกรรมที่สามารถแก้ปัญหาด้านภูมิอากาศของที่ตั้งได้แล้ว ตัวอาคารที่สร้างขึ้นยังต้องสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของรวันดา และเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว รูปแบบของหมู่บ้านพื้นถิ่นของรวันดาจึงถูกหยิบยืมมาใช้ ภายในโครงการมีทั้งส่วนที่เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกอาชีพ และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ เช่น แปลงผัก รวมทั้งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง ผังโครงการคล้ายคลึงกับผังของหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ลานกลางหมู่บ้าน ล้อมรอบด้วยอาคารที่วางกระจุกตัวอยู่โดยรอบ การวางผังของอาคารแต่ละหลังภายในศูนย์แห่งนี้ จะมีพื้นฐานมาจากรูปวงกลม คล้ายกับอาคารที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่แถบนี้ มีทั้งผังรูปวงกลมคล้ายก้นหอยที่มีส่วนของปากก้นหอยเป็นทางเข้า-ออก หรือผังที่เกิดจากวงกลมหลายวงมาต่อกัน นอกจากการวางผังแล้ว ตัวอาคารยังมีการคำนึงถึงการออกแบบสัดส่วนของอาคาร ให้สัมพันธ์กับสัดส่วนของมนุษย์ เพื่อให้อาคารมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป จนข่มความรู้สึกของคนที่ใช้งาน
วัสดุที่นำมาใช้ เป็นการผสมผสานระหว่างวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นกับวัสดุสมัยใหม่ ผนังทำจากอิฐซึ่งทำขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง คิดเป็นจำนวนถึง 450,000 ก้อน มีการใช้อิฐทั้งในส่วนที่เรียงเป็นผนังทึบเพื่อความเป็นส่วนตัว และส่วนที่เรียงเป็นผนังโปร่งเพื่อการระบายอากาศที่ดี ในส่วนโครงสร้างหลังคาใช้เป็นโครงเหล็กถักซึ่งจะมีเสารับน้ำหนักแยกจากผนังอิฐอย่างเด็ดขาด ด้านบนหลังคามุงด้วยแผ่นโลหะ ระหว่างผนังและหลังคาจะเว้นช่องว่างไว้ เพื่อการระบายอากาศและช่วยลดความร้อนจากหลังคา โดยเทคนิคการก่อสร้างอาคารทั้งหมด ได้รับการประยุกต์มาจากการก่อสร้างพื้นบ้าน ทั้งการเรียงอิฐ รวมทั้งเทคนิคการระบายอากาศในอาคาร ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของแอฟริกา ที่รู้จักการรู้จักผสมผสาน สิ่งเก่าและสิ่งใหม่เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
อ้างอิง : archdaily