เปลี่ยนซอกตึกร้างเป็นสวนสวยในปารีส เพื่อการพึ่งพาตนเอง

ด้วยความที่เล็งเห็นถึงปัญหาของชีวิตในสังคมเมือง ที่ผู้คนต่างคนต่างอยู่ ขาดการพึ่งพาระหว่างกัน แต่ละชุมชนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ได้ทำให้สตูดิโอออกแบบเล็กๆ อย่าง Atelier d’Architecture Autogérée หรือ Studio for Self-Managed Architecture มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวเมืองให้มีการพึ่งพากันและกันมากขึ้น ผ่านงานสถาปัตยกรรมและผลงานออกแบบชิ้นเล็กๆ อย่าง Le 56 / Eco-interstice ชิ้นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมของแนวคิดข้างต้น

พื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างซอกตึกในแถบตะวันออกของมหานครปารีส ถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกัน ซึ่งนำมาสู่การพึ่งตนเองในชุมชน โดยในการออกแบบนั้นจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในละแวกนั้น การออกแบบทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนและส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองในชุมชน มีการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบ ‘สหกรณ์’ ที่ทุกคนจะเป็นเจ้าของร่วมกัน ภายในโครงการประกอบไปด้วย พื้นที่สวนส่วนกลางสำหรับเพาะปลูกพืชผักให้สมาชิกนำไปบริโภค มีระบบหมุนเวียนน้ำ นำน้ำที่ใช้แล้วจากอาคารข้างๆ มาใช้ในการเพาะปลูก ร่วมกับน้ำฝนที่กักเก็บไว้ ส่วนปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยหมักที่ได้จากเศษอาหารของบ้านเรือนในละแวกนั้น นอกจากนี้ยังมีอาคารเล็กๆ ที่บนหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลสำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อขายคืนให้กับทางรัฐบาล ซึ่งเงินที่ได้จะกลับเข้ามาสู่สหกรณ์ชุมชนให้สมาชิกได้บริหารจัดการร่วมกันต่อไป

แม้จะไม่สามารถสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน แต่จากการบริหารจัดการแบบสหกรณ์การเกษตรในชนบท ที่เน้นการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็ได้ส่งผลให้โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยดึงบรรยากาศของความเกื้อกูลกันแบบชนบท ที่สังคมเมืองได้เคยพรากไป ให้หวนกลับคืนมาสู่สังคมมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง: Urban Tactics