ดูท่าว่างานนี้เทคโนโลยีจะเข้ามาปรับเปลี่ยนนิยามของ visual arts (ทัศนศิลป์ – ศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการมองเห็น) เสียแล้ว เพราะล่าสุดอดีตโปรแกรมเมอร์จากค่าย Nokia นามว่า Marc Dillon ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีมาเนรมิตให้ศิลปะประเภทจิตรกรรมสองมิติ กลายมาเป็นงานแบบสามมิติที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาสัมผัสเพื่อรับรู้ความงามได้
Dillon และบริษัทของเขาในปัจจุบัน Adventure Club เกิดไอเดียของ unseen art ขึ้น และก็เริ่มต้นออกแคมเปญ Indiegogo ที่เปิดรับบรรดาศิลปินมาเป็นอาสาสมัครเพื่อทำงานศิลปะสองมิติให้กลายเป็นสามมิติที่ว่า โดยการทำงานนั้น ศิลปินจะต้องเริ่มต้นจากภาพถ่ายความละเอียดสูงหรือไม่ก็นำจิตรกรรมชิ้นนั้นมาสแกน เสร็จแล้วจึงใช้โปรแกรมขึ้นรูป 3D โดยใช้การตีความส่วนตัวถ่ายทอดความลึกและรายละเอียดของงานออกมาเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้สึกจากการสัมผัสได้ กระบวนการสุดท้ายก็คือการพรินท์ออกมาให้เป็นรูปสามมิติจริงๆ ซึ่งวัสดุที่สามารถเลือกใช้ได้ก็ยังมีหลากหลาย ตั้งแต่ พลาสติก เหล็ก หินทราย เรซิน และเซรามิก เป็นต้น
สุดท้ายที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ วิธีการกระจายผลงานของ Adventure Club ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาโหลดไฟล์ 3D กันฟรีๆ ผ่านเว็บไซต์ ก่อนจะนำไปใช้งานกันได้ตามสะดวก
“คิวเรเตอร์หลายคนบอกกับเราว่า เราไม่เพียงเปลี่ยนเกมให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสกับ visual arts ได้เท่านั้น แต่เรายังเอางานศิลปะคลาสสิคออกมาแจกมาขายกันอีก” Dillon กล่าว แต่ไม่ว่าจะเป็นการพลิกเกมหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ Dillon และทีมงาน ได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อผู้พิการทางสายตาจริงๆ และตอนนี้ Unseen Art ก็กำลังมองหาคิวเรเตอร์ที่จะมาช่วยพวกเขาจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกอยู่
ส่วนในอนาคต พวกเขาบอกว่าอาจจะขยับไปทดลองกับงานนิทรรศการศิลปะใน ‘ความมืด’ ที่ที่ทั้งคนสายตาดีและไม่ดีจะได้รับประสบการณ์การรับชมศิลปะด้วยวิธีเดียวกัน (หรือพูดอีกทางคือ เท่าเทียมกัน) … น่าติดตามมากๆ!
[youtube url=”https://youtu.be/GOF4Ipvjp8A” width=”600″ height=”350″]
อ้างอิง: Unseen Art, Magazine.Good.Is