ประเทศที่มีวัฒนธรรมการขี่จักรยานที่เข้มแข็งที่สุดในโลกอีกแห่งอย่างญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่นิยมการเป็นสิงห์นักปั่นมากกว่าพึ่งพายานพาหนะประเภทอื่นอย่างรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง ส่งผลให้ญี่ปุ่นเองต้องคิดค้นและพัฒนาที่จอดจักรยานรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกต่อผู้ขับขี่เอง รวมไปถึงภาพรวมของเมืองด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่าการจัดสรรพื้นที่จอดรถจักรยานแบบระบบล็อคที่สามารถจอดได้ 24 ชั่วโมงบริเวณรถไฟใต้ดิน เลยไปจนถึงจุดจอดกลางแจ้งที่มาในลักษณะของตู้หยอดเหรียญ แต่ด้วยความหนาแน่นทั้งในเชิงประชากร ตึกรามบ้านช่อง อาคารสำนักงาน ไปจนถึงที่ดินที่มีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น การพัฒนาพื้นที่จอดจักรยานเพื่อให้สามารถรองรับกับข้อจำกัดดังกล่าวจึงถูกคิดให้ตอบโจทย์ทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน
ECO Cycle, Anti-seismic Underground คือนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดย Giken Seisakusho บริษัทวิศวกรรมที่เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตเครื่องจอดรถยนต์ใต้ดินโดยเฉพาะ หลังจากใช้เวลาในการพัฒนากว่า 1 ปี ระบบจอดจักรยานดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้งานจริงครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ภายใต้แนวคิด ‘Culture Aboveground, Function Underground’ ระบบจอดจักรยานดังกล่าวได้รับการออกแบบมาในลักษณะของแท่งทรงกระบอกที่มีความสูงอยู่ที่ 11.6 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5 เมตร สามารถจุจักรยานได้ 204 คัน (จากรุ่นแรกๆ ที่จอดได้เพียง 144 คัน) ซึ่งแต่ละช่องมีการดีไซน์ให้สามารถรองรับลักษณะ ตลอดจนความกว้างและยาวของจักรยานได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น mountain bike ที่มีหน้าล้อกว้าง จักรยานอิเล็กทรอนิกส์ จักรยานพับ ไปจนถึงจักรยานคลาสสิคแบบแม่บ้านญี่ปุ่น
ฟังก์ชั่นใช้งานของที่จอดจักรยาน ECO Cycle ก็เอื้ออำนวยต่อการใช้งานในเมืองใหญ่ โดยผู้ใช้สามารถจอดและรับคืนจักรยานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เมื่อต้องการใช้งานก็เพียงแค่กดปุ่มและเตะบัตรจอดรถที่มาในรูป IC Card และ IC Tag บนเครื่องสแกน จากนั้นก็รอเพียง 15 วินาที (แหม….เร็วกว่าชงกาแฟสักถ้วยซะอีก) ระบบการจะนำรถไปจอดหรือนำมาคืนอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ไม่เพียงเท่านี้ ทีมออกแบบยังพัฒนาให้ที่จอดดังกล่าวมีกลไกการเคลื่อนย้ายและมีรูปแบบการจัดเรียงแท่นจอดอย่างมีระบบระเบียบ อีกทั้งยังสามารถป้องกันจักรยานจากการขีดข่วนด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากการพัฒนาระบบการจอดจักรยานแห่งนี้ให้ปลอดภัยจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว น้ำฝน และแน่นอนพวกหัวขโมยแล้ว ในส่วนของการก่อสร้างนั้น พวกเขาได้นำเอานวัตกรรมที่สามารถสร้าง ECO Cycle ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ไปกระเทือนและสร้างมลพิษให้กับพื้นที่สาธารณะและอาคารแวดล้อมด้วย
ณ ปัจจุบัน ECO Cycle ถูกติดตั้งอยู่ 34 จุด ทั่วญี่ปุ่น โดยมีค่าบริการต่อเดือนอยู่ที่ 2,600 เยน (900 บาท) และครึ่งราคา หรือ 1,300 เยน (450 บาท) สำหรับนักเรียนนักศึกษา นอกจากความสะดวกและปลอดภัยสำหรับคนใช้งานแล้ว ระบบจอดจักรยานที่ว่านี้ยังส่งผลดีต่อทัศนียภาพโดยรวมของเมืองอีกด้วย เมืองไทยน่าจะถอยมาใช้สักแท่ง
[youtube url=”http://youtu.be/pcZSU40RBrg” width=”600″ height=”340″]
[youtube url=”http://youtu.be/EY2AYA0O-VY” width=”600″ height=”340″]
การก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยี Press-in ที่ช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง: Giken, News Softpedia, Danny Choo
%