ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งในสังคมชมบทหรือพื้นที่ห่างไกลทั่วทุกมุมโลกก็คือ การขาดแคลนไฟฟ้า ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ต้องดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากเพราะต้องใช้แสงสว่างจากเทียน โคมไฟตะเกียงที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง หรือโคมไฟพลังงานแบตเตอรี่ อีกทั้งปัญหาที่มักตามมาก็คือการเกิดเพลิงไหม้ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนักต่อนัก รวมถึงมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ
หนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าวก็คือประเทศฟิลิปปินส์ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะกว่า 7,000 เกาะ แต่เกาะส่วนใหญ่กลับไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ด้วยเหตุสำคัญนี้ จุดประกายให้ Lipa Aisa Mijena อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย De La Salle ประเทศฟิลิปปินส์คิดค้น ‘โคมไฟพลังงานน้ำเกลือ’ ภายใต้โปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ‘Sustainable Alternative Lighting’ (SALt) โคมไฟนี้อาศัยหลักการผลิตกระแสไฟฟ้าจากปฏิกิริยาทางเคมี ภายในประกอบด้วยแผ่นโลหะ 2 แผ่นที่แตกต่างกันจุ่มอยู่ในน้ำเกลือ ส่งผลให้เกิดการปล่อยอิเล็กตรอนซึ่งจะเดินทางจากแผ่นโลหะหนึ่งไปอีกแผ่นหนึ่งผ่านทางสายเชื่อม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า สร้างแสงสว่างให้หลอด LED นั่นเอง ซึ่งวิธีการใช้งานก็ง่าย เพียงใช้เกลือ 2 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 1 แก้วหรือใช้น้ำทะเลเพียงแก้วเดียวเทลงไปในโคมไฟ ก็สามารถให้แสงสว่างได้นานถึง 8 ชั่วโมง ขั้วแบตเตอรี่ในโคมไฟสามารถใช้งานได้นาน 1 ปี อีกทั้งยังสามารถเสียบชาร์จโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ ได้ด้วย โคมไฟนี้สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำและเกลือเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและราคาถูก แถมยังใช้น้ำทะเลแทนได้ด้วย
นับว่าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลังงานทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่เพียงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
อ้างอิง: SALt, Inhabitat, Core77, This is Colossal