งานออกแบบที่ดีไม่เพียงแต่จะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติพื้นฐานที่ดีอย่างโครงสร้าง ฟอร์ม สีสัน วัสดุ และความสวยงามเท่านั้น แต่งานชิ้นนั้นจะต้องเข้าใจในระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับตัวผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้สูงสุด สร้างความรู้สึกที่ดี ตลอดจนปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมเอาองค์ประกอบทั้งหมดที่ว่ามาสร้างเป็นงานออกแบบดีๆ สักชิ้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการคิด ศึกษา และพัฒนา ขณะเดียวกันผู้ออกแบบเองก็ยังต้องรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้อย่างพอดีด้วยเช่นกัน การได้พบกับ ‘เบิร์น – ชาญฉลาด กาญจนวงศ์‘ ทำให้ภาพของการสมดุลคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการได้รับรู้ถึงวิธีคิด ทัศนคติในการออกแบบภายใต้แนวทาง Eco Design ตลอดจนวิถีแบบที่นักออกแบบดีๆ คนหนึ่งพึงจะมีภายใต้แบรนด์เครื่องเขียนสัญชาติไทยแท้อย่าง GREY RAY STATIONERY นั้นน่าสนใจเพียงใด
Q: ก่อนจะเจาะเข้าไปสู่เรื่องราวของ GREY RAY พี่เบิร์นช่วยเล่าแบ็คกราวนด์คร่าวๆ ของตัวเองให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
A: เราจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนเรียนจบก็ทำงานอินทีเรีย ตอนนี้ก็ยังทำอยู่นะ พออายุประมาณ 24 เปิดโรงเรียนสอนศิลปะชื่อว่า artHOUSE Institute แล้วก็ทำอินทีเรียควบคู่กันไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี ก็เปิดร้านเสื้อผ้าที่โรงหนังสยาม พอทำไปได้สักพักหนึ่ง เราเริ่มอยากโฟกัสไปที่ artHOUSE จริงๆ จังๆ ว่าอยากต่อยอดอะไรจากตรงนั้น อยากขยายสิ่งที่เราทำ แล้วมันก็มีหลายแนวทาง เช่น ขยายสาขา แต่เราก็คิดว่าเราสามารถขยายจากภายในได้หนิ เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าการที่เราทำโรงเรียนสอนศิลปะมันสามารถขยายไปสู่อะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งพื้นฐานที่สุดของการเรียนก็คือเครื่องเขียน นั่นก็คือจุดเริ่มต้นแรกสุดของ GREY RAY STATIONERY
Q: ชื่อ GREY RAY มีที่มาที่ไปอย่างไร?
A: สำหรับชื่อของ GREY RAY คือเราอยากได้ชื่อแบรนด์ที่มีความหมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ‘เกเร’ ในภาษาไทย เรามองว่ามันเป็นตัวแทนของวิธีคิด วิธีการใช้ชีวิตบางอย่างที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่สังคมหรือวัฒนธรรมบางอย่างกำหนดมา อย่างคนที่ขอหยุดเรียนเพื่อไปเที่ยว แล้วค่อยไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย คนแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นคนเกเร แต่เอาเข้าจริงๆ เขาอาจจะแค่กำลังค้นหาบางอย่าง พิสูจน์บางอย่างอยู่ ส่วนคำว่า grey ในภาษาอังกฤษคือสีเทาซึ่งในความเทามันก็มีสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่ มันคือกึ่งกลางไม่ดีไม่ชั่ว เลยเลือกคำๆ นี้มาใช้ แล้วมันก็สะท้อนตัวเราด้วย ว่าเราเป็นอย่างไร เราชอบตั้งคำถาม เพื่อหาข้อพิสูจน์มาหักล้างที่เราไม่เชื่อ แม้กระทั่งการทำเครื่องเขียน มันเกิดจากคำถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้
[youtube url=”http://youtu.be/5wn78SHcIWg” width=”600″ height=”350″]
Q: ช่วยเล่าถึงแนวคิดและปรัชญาในการทำงานออกแบบของ GREY RAY ให้เราฟังหน่อยได้ไหม?
A: ตอนที่คิดจะทำงานนี้ เรามีปณิธาน 3 ข้อ เลยนะ ข้อแรก คือเราต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำว่ามันจะมีผลกับคน กับสิ่งแวดล้อมไหม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทำคือต้องคิดให้รอบคอบและรอบด้าน ข้อที่สอง เราอยากจะสร้างวัฒนธรรมเครื่องเขียนให้กับคนไทย เพราะคนไทยไม่มีวัฒนธรรมเครื่องเขียน อย่างที่ญี่ปุ่นหรือยุโรป เขามีการส่งต่อเครื่องเขียนดีๆ มายาวนาน ส่วนเราไม่ได้มีวัฒนธรรมตรงนี้ เครื่องเขียนเลยไปอยู่ในหมวดหมู่ของสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นภาษีซึ่งทำให้สินค้ามีราคาแพง ซึ่งถ้าเราสร้างวัฒนธรรมเครื่องเขียนได้ มีคนลงมาศึกษามันจริงๆ จังๆ ตลาดก็จะใหญ่ขึ้น และอาจจะทำให้เรามีโอกาสได้ใช้เครื่องเขียนในราคาที่สมเหตุสมผลขึ้น ข้อสุดท้าย เราอยากเป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่ทำให้คนไทยภูมิใจ มันเป็นคำที่ไม่รู้กำหนดจากอะไรเหมือนกัน แค่รู้สึกว่ามันเป็นเป้าหมายที่เวลาคุยกันในทีมแล้วมันหล่อเลี้ยง ให้ความชุ่มชื้น ให้เราอยากทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ เราไม่ได้ทำงานเพราะจะดูว่าผลประกอบการปีหน้าของเราได้เท่าไหร่ มันไม่ใช่สิ่งตั้งตนของเรา เรื่องของผลประกอบการมันจะเกิดขึ้นเองหลังจากที่เราทำงานดีๆ ออกไป สิ่งที่เราคิดคือจะทำอะไรที่ทำให้คนไทยภูมิใจ ทำให้คนไทยไม่ยี้ของคนไทย เราไม่เข้าใจเลยว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เรายี้ของของเรา เพราะว่าถ้าเราสืบไป วัฒนธรรมการกินการใช้ชีวิตของเราละเมียดกันมากนะ แล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ที่มันเริ่มชุ่ยลงเรื่อยๆ จนมันกลายเป็นตราประทับบอกว่า Made in Thailand เป็นของไม่ดี มันน่าสนใจตรงนี้ เราเลยพยายามทำให้มันดี ในขณะที่ราคาก็จับต้องได้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นของดีไซน์แล้วต้องแพง
Q: วิธีคิดแบบนี้ถูกนำเสนอผ่านตัวผลิตภัณฑ์อย่างไรบ้าง?
A: เราชอบตั้งคำถามและเข้าไปหาความจริงของโปรดักท์ โดยส่วนตัวเรานับถือศาสนาพุทธ แล้วช่วงหลายปีมานี้ก็มีโอกาสได้ศึกษาอย่างจริงจังทำให้พบว่าการค้นหาความจริงมันเป็นเรื่องที่ยั่งยืน งานทั้งหมดก็เลยเอาหลักการนี้มาใช้ โดยมีสามข้อที่บอกไปเป็นแกนในการทำงาน อย่าง EE Defender เราเริ่มจากการเข้าไปสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนจริงๆ แล้วเกิดคำถามว่าทำไมดินสอจะต้องเหลายาว ใครบอกให้เหลาดินสอ EE ยาวแบบนั้น ถามเพื่อให้เจอต้นตอว่าเพราะอะไร สุดท้ายก็ค้นพบว่ามันมีความเชื่อว่ายิ่งยาวยิ่งเขียนดี แล้วเราก็แค่ทำตามๆ กันมา เมื่อพบคำตอบแล้วก็รีเสิร์ชต่อไปอีกว่าถ้าคุณจะเหลายาวแบบนั้น ยาวแค่ไหนถึงจะพอ เราก็ไปวัดค่าจากเด็กนักเรียน 200 กว่าคน ก็ได้ค่ากลางประมาณ 3.8 เซนติเมตร มันพิสูจน์ได้ว่ายาวแค่นี้ก็เขียนรูปได้แล้ว เราเลยสร้างปลอกแค่ 3.8 เซน มา protect มัน เพราะว่าดินสอ EE มันเปราะ มันมีส่วนผสมของกราไฟต์เยอะ แต่ช่วงที่ EE Defender ออกมาแรกๆ ก็ไม่มีใครเข้าใจเลยว่าตัวโปรดักท์นี้สื่ออะไร เราก็โอเค ไม่เป็นไร เลยลองส่งงานนี้เข้าไปประกวดดูจนมันไปได้ DEmark กับ GOOD DESIGN AWARD ปี 2013 ซึ่งมันเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำตั้งใจและกำลังค้นหามีคนเห็นอยู่นะ
Q: สำหรับผลงานชิ้นอื่นๆ อย่างดินสอ 2cm+ และยางลบ NATURE MADE ECO ERASER เกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบเดียวกันไหม?
A: ตอนที่ทำ EE Defender เรายังไม่เข้าใจหรอกว่า Eco คืออะไร แต่เวลาเราทำงานสักชิ้น เราจะเข้าไปสู่เนื้อหาของตัวโปรดักท์ตัวนั้นจริงๆ ว่ามันทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นอย่างไร ซึ่ง 2cm+, NATURE MADE ECO ERASER รวมถึงงานชิ้นอื่นๆ ก็เกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบเดียวกัน ตอนที่เราคิดจะทำ 2cm+ มันก็เริ่มจากการเข้าไปหาความจริงของดินสอ ก็ค้นพบว่าดินสอมันทำจากกราไฟต์ ซึ่งกราไฟต์มันมีประโยชน์มากมายที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อยู่ในถ่านไฟฉาย ในแบตเตอรี่รถยนต์ เฟรมจักรยาน และกราไฟต์ก็เป็นแร่ที่เกิดจากการทับถม ใช้แล้วหมดไปได้ แต่เราไม่เคยเห็นคุณค่าของกราไฟต์ กลับมาที่ดินสอ เราจะเห็นได้ว่าดินสอส่วนใหญ่ไม่เคยถูกใช้จนหมดแท่ง พอสั้นมันก็ถูกทิ้งหรือไม่ก็ถูกเก็บสะสมไว้ในกล่องดินสอ ไม่เคยมีใครสนใจว่าไส้ตรงก้นดินสอมันได้ใช้ไหม 2cm+ ก็เลยเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามตรงนี้ เราก็เอาไส้กราไฟต์ออกไปเลย 2 เซนติเมตร โดยความยาวที่ลดทอนออกมันสามารถนำไปสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีก เราอยากลองลดบางอย่าง แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพมันหายไป
ส่วนยางลบ จากสิ่งที่เราเจอคือ 90% ในท้องตลาดเป็นพิษหมดเลย ทำจากพีวีซีซึ่งเป็นสารที่บางประเทศห้ามนำเข้าแล้ว ถ้าไปเกี่ยวกับภาชนะ หีบห่อ หรืออาหาร แบบที่ต้องสัมผัส สูด ดม มันอันตรายมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการสร้างยางลบให้มีกลิ่นหอม มีรูปทรงที่น่ากิน เด็กๆ ก็เอาไปดม ไปสัมผัส เราเป็นผู้ใหญ่เห็นแล้วยังอยากกินเลย ตอนที่ทำงานนี้เรานึกไปถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบบ่นปวดหัวทุกวัน ตอนนั้นก็คิดแค่ว่ามันขี้เกียจเรียน แต่เพราะมันชอบดมยางลบ มันเป็นสารตะกั่ว เป็นพีวีซีมันก็เลยปวดหัว นั่นคือความจริง สิ่งที่เราทำคือการลองคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะทำยางลบสักก้อนหนึ่ง แล้วมัน pure ขนาดที่กินได้เลย ทำมาจากสารธรรมชาติ ก็ใช้เวลาวิจัยประมาณ 2 ปี ถอดใจหลายครั้งเหมือนกัน เพราะดูมันจะเป็นไปไม่ได้เลย มันไม่มีอยู่แล้วสารแบบนั้น ก็ไปเจอที่ฮ่องกงครับ เราอีเมลตอบโต้กันประมาณ 2 เดือน จนมั่นใจแน่ๆ เลยตัดสินใจซื้อตัวอย่างเข้ามา แต่อีกใจก็ยังไม่เชื่อเต็มร้อย เลยส่งไป MTEC ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของไทยก็พบว่ามันมีพิษ ตอนนั้นเราเฮิร์ทมากนะว่าทำไมมาหลอกเรา แต่เขาคงไม่คิดว่าเราจะส่งยางลบไปที่ MTEC ท้อนะ เราพับโปรเจ็กต์นี้ทิ้งไปพักหนึ่งเลย จนวันหนึ่งมีเพื่อนคนญี่ปุ่นแนะนำว่ามีกลุ่มนักวิจัยกลุ่มหนึ่งกำลังทดลองนำเปลือกหอยเชลล์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมอาหารมาบดเพื่อทดแทนสารในยางได้ ตอนนั้นดีใจมาก ก็ติดต่อเขาไป อีเมลโต้ตอบกัน ถามว่าเขาสามารถพัฒนาเป็นยางลบได้ไหม เขาก็ลองดู จนสุดท้ายมันก็สำเร็จ NATURE MADE ECO ERASER เป็นยางลบที่เด็กๆ สามารถเอาไปเคี้ยวได้เลย
NATURE MADE ECO ERASER ยางลบที่ผลิตขึ้นจากเปลือกหอยเชลล์
[youtube url=”http://youtu.be/Eka9Dk2Odek” width=”600″ height=”350″]
Q: ด้วยความที่ GREY RAY เป็นแบรนด์เครื่องเขียนรายใหม่ซึ่งมีวิธีการผลิตสินค้าและแนวทางการทำงานแตกต่างไปจากแบรนด์เครื่องเขียนทั่วๆ ไปที่เจาะกลุ่มตลาดแมส พี่เบิร์นมีวิธีการสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้ใช้อย่างไรบ้าง?
A: ด้วยความที่ตัวเราเองก็อ่านและศึกษาการตลาดมาพอสมควร แต่ไม่เชื่อเรื่องนี้ เพราะหลายๆ ทฤษฎีมันยกมาจากเมื่อ 40-50 ปี หรือ 5 ปีที่แล้ว มันใช้ได้ช่วงเวลานั้น เราคิดว่ามันก็เหมือนเพื่อนรุ่นพี่ที่เขาเคยทำธุรกิจช่วงนั้นหรือเอาประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นมาเล่าสู่กันฟัง แต่ในความเป็นจริงเราต้องชิม แล้วก็ต้องปรุงให้ได้รสชาติของตัวเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ GREY RAY ทำก็คือการหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้การตลาดไม่มีการตลาด ให้มันเข้าไปสู่เนื้อของโปรดักท์เอง โดยที่เราไม่ต้องทำการตลาด เอาความจริงใจเข้าไปในนั้น ทำให้มันดีจริงๆ ถึงแม้ว่าเขาไม่เคยฟังเราพูด แต่ถ้าโปรดักท์มันใช้ดี แล้วถ้าเขาได้มารู้ถึงกระบวนการที่เราใช้เวลาในการคิดและพัฒนาแทบทุกมิติ เขาอาจจะรับรู้ได้ว่าเราตั้งใจทำมันจริงๆ สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ชัดเจนเวลาเราไปออกบูธที่จะมีคน 2 แบบ เดินเข้ามาหาเรา แบบแรกคือเดินผ่านมาแล้วบอกว่าสวยดี จะเข้ามาถามเรา เราก็อธิบายไป กับอีกแบบหนึ่งคือพาเพื่อนมาด้วยแล้วอธิบายแทนเราหมด ขายแทนเลย (หัวเราะ) เราก็จะเจอคนแบบหลังเยอะ เขาอาจจะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนยังไม่รู้แล้วเขาอยากถ่ายทอด
ตัวต่อดินสอ Drawing Out
[youtube url=”http://youtu.be/PpgDwjYZr5Y” width=”600″ height=”350″]
Q: ก่อนที่จะมีคนแบบที่สองเกิดขึ้น ก่อนที่เขาจะรับรู้เรื่องราวของ GREY RAY มีการสื่อสารไปถึงผู้ใช้กลุ่มนี้อย่างไร?
A: เราทำกลุ่มตลาดที่มันเป็นตลาดหลักจาก mass market ไปสู่ niche market จะดูว่าชิ้นไหนสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มและชิ้นไหนสำหรับกลุ่มแมส เพราะฉะนั้นมันก็จะหลากหลายมาก เราจะวิเคราะห์ให้ได้ว่าโปรดักท์ตัวนี้ใครใช้ พฤติกรรมเขาเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการตลาดเข้าไปคลุมโดยไม่เหวี่ยงแห ตัวโปรดักท์จะพูดชัดเจน ถ้าเกิดว่าจะมีการใช้ข้ามกลุ่มกันก็ถือว่าเป็นกำไร อย่างเช่น EE Defender ก็จะเป็นเด็ก ม.4-ม.6 Drawing Out ที่เป็นตัวต่อดินสอจะเป็นมหาวิทยาลัยถึงคนเริ่มทำงาน ยางลบ ดินสอ สมุด ก็จะได้ทุกกลุ่มผู้ใช้ เป็นต้น
Q: ในแง่วัสดุและกระบวนการผลิตของ GREY RAY มัน Eco อย่างไร?
A: โปรดักท์ของ GREY RAY ทำจาก PP (Polypropylene) เป็นพลาสติกคุณภาพสูงที่รีไซเคิลได้ 100% เพราะฉะนั้นมันก็ Eco ตั้งแต่ต้นทาง หลายคนอาจสงสัยว่าพลาสติกมัน Eco ได้อย่างไร Eco ต้องธรรมชาติสิ แต่จริงๆ แล้วเราไม่สามารถวัดว่ามัน Eco เพียงเพราะว่ามันธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น สิ่งที่วัดได้คือวงจรทั้งหมดของมันเป็นอย่างไร เปรียบเทียบระหว่างการนำเศษไม้ที่เหลือจากโรงงานมาทำเก้าอี้ ใช้กาวลาเท็กซ์ซึ่งเป็น CFC ที่เป็นพิษและมีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และถ้าเก้าอี้ตัวนั้นมันมีน้ำหนักมาก ระบบการขนส่งต้องใช้น้ำมันมาก กับโปรดักท์อีกชิ้นที่เราคำนวณได้ว่าใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ใช้แรงงานเท่าไหร่ มีน้ำหนักเบา ทำให้การขนส่งง่าย เมื่อหมดวงจรของผลิตภัณฑ์ก็สามารถรีไซเคิลตัวมันเองได้ นำไปผลิตซ้ำได้เร็วกว่า ผลิตภัณฑ์แบบหลัง Eco กว่านะ เพราะฉะนั้นเราตัดสินไม่ได้ว่ามาจากธรรมชาติหรือพลาสติกจากฝีมือมนุษย์อันไหน Eco กว่า เราต้องดูบริบทว่าทั้งวงจรเป็นอย่างไร
Life Book
[youtube url=”http://youtu.be/j3gWOB48r74″ width=”600″ height=”350″]
Q: บทบาทหน้าที่ของงานสร้างสรรค์และคนทำงานสร้างสรรค์สามารถช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้มากน้อยแค่ไหน?
A: เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราถามตัวเองตลอดว่า เราเป็นใคร? แล้วคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำเครื่องเขียนอย่างเราจะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของสังคมได้อย่างไรบ้าง? เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเราอยากทำผลิตภัณฑ์หรืออะไรก็ตามที่สามารถจะใส่แนวความคิดบางอย่างที่มันจะไปเปลี่ยนแปลงคนและสังคมได้ มีคนเคยถามนะว่าว่างมากเลยเหรอขนาดไส้ดินสอยังเอามาคิดเป็นจริงเป็นจัง สำหรับเรา การทำโปรดักท์สักชิ้นที่สามารถใส่แนวคิด ทำให้วงจรผลิตภัณฑ์มันยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจกับคนได้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรใหญ่โต จริงใจ แล้วทำอย่างต่อเนื่องมันก็เพียงพอแล้ว หลายคนถามว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยลดขยะในโลกนี้ได้ คำตอบของเราก็คือสร้างของที่ไม่เป็นขยะออกมาสิ ไม่ใช่ว่าของมันมีเยอะอยู่แล้ว แต่ยังทำเพียงเพราะว่ามันขายดี เราต้องนึกไปถึงบริบทแวดล้อมเราด้วยว่างานของเราไปกระทบ หรือสร้างผลเสีย หรือช่วยให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
Q: แล้วความสุขของการทำงาน ณ ตอนนี้ของพี่เบิร์นคืออะไร?
A: ความสุขเหรอ เราชอบได้รับความสุขตอนเราขับรถกลับบ้านหลังจากที่เราทบทวนว่าวันนี้เราได้ทำอะไรให้ใครไหม หรือได้ฟีดแบคที่ดีจากสิ่งที่เราทำ มันเป็นเหมือนเอ็นโดรฟินที่หล่อเลี้ยงให้ใจเราชุ่มชื้น ความสุขหรือความอิ่มเอม ทุกอย่างมันสร้างจากตัวเราเองนะ อย่างตอนที่เราเข้าไปทำโครงการให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งภายใต้องค์กร HEart OF HAPPINESS เราเอาศิลปะเข้าไปช่วยบำบัด ให้มันเป็นสื่อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย เราจำความรู้สึกได้ดีเลย ภาพความสุขมันเกิดขึ้นต่อหน้าจริงๆ คำพูดของคุณลุงคุณป้าที่บอกกับเราว่า “ถ้าหนูไม่มา ลุงๆ ป้าๆ ก็นั่งๆ นอนๆ ก็ไม่ได้รู้จักกัน” เราได้เห็นคุณลุง 2 คน เริ่มสนิทกัน เริ่มแซวกัน เป็นเพื่อนกัน แล้วพอเราทำศิลปะร่วมกันเสร็จเรียบร้อย มีช็อตหนึ่งคือเขามองหน้าพวกเรา สายตาเขา เราสัมผัสได้ว่าพวกเขากำลังขอบคุณ แล้วสายตาแบบนั้นมันแรงมาก มันจริงมากเสียจนเราขนลุกไปหมด เชื่อไหมวันนั้นเราไม่ได้นอนเลย เอ็นโดรฟินมันหลั่งมาเต็มหลอด เพิ่งเข้าใจว่าความอิ่มเอิบมันเป็นแบบนี้เนอะ ในขณะที่เราไปให้เขา ทุกคนแฮปปี้ไปหมด ที่เล่ามาคืออยากจะบอกว่าความสุขในการทำงานคืออะไร มันคือการได้หลั่งสารแบบนี้ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรารู้สึกว่าเราจริงใจ มันมีเอฟเฟ็กต์บางอย่าง มันชุ่มชื้น มันทำให้อยากจะให้ถึงพรุ่งนี้ไวๆ อยากจะพัฒนาโปรดักท์ตัวนั้นให้เสร็จไวๆ เราก็ถามตัวเองนะว่าความสุขของการทำงานคือการไต่บันไดไปเรื่อยๆ เหรอ ขยายสาขาไปเรื่อยๆ เหรอ ชนะคนอื่นไปเรื่อยๆ เหรอ มันไม่ใช่ สำหรับเรา มันคือการรู้ว่าเราได้ทำอะไรให้ใครไหม ทิ้งอะไรให้คนรุ่นต่อไปไหม แล้วเราได้ใช้ความสามารถของเราไปสร้างความเปลี่ยนแปลงไหม
Q: ในความคิดของพี่เบิร์น นักออกแบบที่ดีและงานออกแบบที่ดีเป็นอย่างไร?
A: ถ้าถามว่านักออกแบบที่ดีเป็นอย่างไร เราคิดว่าต้องจิตใจดีก่อนนะ จะทำไรก็ได้ที่ไม่ไปเอาเปรียบคนอื่น เราเห็นสาหร่ายปลอม ไข่ปลอม ข้าวสารปลอม นมผงของปลอมที่ทำให้เด็กตาย ไปสวนสัตว์เขียนว่าเป็นสิงโตแต่จริงๆ เป็นหมาเชาเชา เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกนะ ซึ่งถ้าให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์กับคนเหล่านี้ เอาไปร้อยเต็ม แต่ความเป็นมนุษย์พวกคุณตกเรียบ มันเกิดจากคนที่ใจไม่ดี แล้วพอคนจิตใจไม่ดีไปอยู่ในฐานะที่ผลิตได้ ตัดสินใจได้ มันสร้างความเสียหายมากมายตามมา เพราะฉะนั้น แก่นสำคัญก็คือจิตสำนึกที่ดี แล้วคุณก็ใช้จิตสำนึกนั้นนั่นแหละในการทำงาน ไม่ต้องรีบร้อน ทำช้าๆ อย่าง GREY RAY ก็ช้ามาก ของเราน้อยมากเลยนะ ทำมา 4-5 ปี มีโปรดักท์แค่ 4-5 ตัว ตกปีละตัว คิดกันหัวแตก (หัวเราะ) ถามว่าในทางธุรกิจทันเขาไหม ไม่ทันเขาหรอก แบรนด์เครื่องเขียนระดับโลกผลิตกันมาเป็น 100 ปี มี category สินค้าไม่รู้กี่อย่าง แต่ถ้าเรารู้ว่าโมเดลธุรกิจเราคืออะไร เรามีกำลังเท่าไหร่ก็ทำตามกำลังที่มี อาจจะไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็ทำให้เราสามารถลงรายละเอียดต่างๆ ได้ลึกขึ้น ดีขึ้น และมีความสุขกับตัวเองได้เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าจุดมุ่งหมายหลักของเราไม่ใช่ผลประกอบการ เราหวังว่าจะมีคนเห็นและนำโมเดลธุรกิจแบบนี้ไปใช้บ้าง
ส่วนงานออกแบบที่ดีในความคิดเราก็คือการที่ของชิ้นนั้นไปทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น ดีขึ้น เมื่อไรก็ตามที่ทำโปรดักท์แล้วไปทำให้ชีวิตคนยากขึ้น นั่นแสดงว่าผิดแล้ว เราขอยก case study อันหนึ่งนะ ในงานดีไซน์แฟร์งานหนึ่ง มีผู้ประกอบการ 2 เจ้า ทำเครื่องดูดฝุ่นเหมือนกัน เจ้าหนึ่งล้ำมากเลย รูปทรงแปลกตามาก จนไม่รู้ว่าปุ่มเปิดปิดอยู่ตรงไหน กับอีกเจ้าหนึ่ง เป็นบูธเล็กๆ ทำเครื่องดูดฝุ่นที่มีวิธีการใช้งานเหมือนเดิมเป๊ะ แต่เงียบมาก ไม่มีเสียงไปรบกวนคนที่อยู่ในห้องหรือคนแวดล้อมเลย เราว่าแบบหลังมัน practical กว่านะ เราชอบแบบนั้น เราชอบงานที่เข้าสู่เนื้อหาของผลิตภัณฑ์จริงๆ ไม่สนใจว่าฟอร์มมันจะเป็นอย่างไร ถ้ามันมีเหตุผลว่าที่ต้องทำแบบนั้น ต้องกดตรงนี้ ฟอร์มก็เลยต้องมีปุ่มตรงนี้ก็โอเค
Q: พี่เบิร์นได้อะไรจากการทำงานตรงนี้บ้าง?
A: แปลกนะ พอเราทำงานด้วยวิธีคิดแบบนี้ทั้ง GREY RAY และ HEart OF HAPPINESS เราเจอคนดีหมดเลย กลายเป็นดึงดูดคนดีๆ เข้ามา ถ้าสัมภาษณ์แต่ละคนที่ได้ทำงานด้วย เราไม่คิดว่าเขาเป็นมนุษย์นะ แต่คือนางฟ้า (หัวเราะ) จริงๆ นะ คือแต่ละคนไม่คิดเรื่องเงินกันเลย ทุกคนจะพูดเหมือนกันคือ “ไปช่วยกัน” ซึ่งเราดีใจที่มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนแบบนี้ มันทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้น ตอนนี้ตายได้แล้ว หน้าตาเราอาจจะดูเลวนะ แต่ข้างในไม่ได้เลว แบรนด์ชื่อ GREY RAY ก็จริง แต่เราไม่ได้เกเร เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นคนดี แค่ได้ทำและคิดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เราเชื่อแบบนั้น
Q: อนาคตของ GRAY RAY จะเป็นอย่างไรต่อไป?
A: อนาคตของ GREY RAY ก็คือการได้ทำโปรดักท์แบบนี้แหละ เพื่อคนไทย และสร้างวัฒนธรรมเครื่องเขียนให้เกิดขิ้นที่นี่ ตอนทำ GREY RAY แรกๆ เราให้ทีมงานเสิร์ชว่ามีคนโพสเกี่ยวกับเครื่องเขียนไหม ที่เราเจอก็มีแต่อาหาร ไลฟ์สไตล์ กระเป๋ารองเท้า เสื้อผ้า ไม่มีใครพูดเกี่ยวกับเครื่องเขียนเลย แต่ทุกวันนี้พอเราเสิร์ชแฮชแท็ก เราเจอเกี่ยวกับเครื่องเขียนเต็มไปหมดเลย บางคนบอกในทวิตเตอร์ว่าอยากเปิดร้านเครื่องเขียน จะทำเครื่องเขียน เราก็โฮ เจ๋งหวะ เราไม่รู้เพราะเราหรือเปล่านะแต่เราทำบางอย่างเกิดขึ้นได้แล้ว และเราก็จะยังทำต่อเนื่องไปอีก อนาคตก็คือทำไปเรื่อยๆ ทำให้ดี ถ้าวันนี้ดี พรุ่งนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว เราไม่ได้มองไกลเลย แค่คิดว่าสิ่งที่ทำลงไปแล้วมันดีสำหรับเราเอง ทำแล้วรับผิดชอบได้ไหม ถ้ามีลูกเราสามารถที่จะยื่นของชิ้นนี้ให้ลูกหลานเราใช้ได้ไหม ถ้าทำได้ ก็ทำเลยครับ
อ้างอิง: GREY RAY
ภาพ: เกตน์สิรี วงษ์วาร