Spring Garden สถาปัตยกรรมเปลี่ยนพฤติกรรมคน+แก้ปัญหาสังคม

โครงการพลิกโฉมหน้าบ้านพักสำหรับคนไร้บ้านโดยองค์กรเซนต์มังโกส์ (St.Mungo’s) ทำเอาคนคิดว่าที่นี่ Spring Garden เป็นบูติคโฮเต็ลเก๋ๆ แต่แท้ที่จริงมันคือบ้านพักพิงและอบรมอาชีพสำหรับคนไร้บ้านแม้รัฐบาลอังกฤษจะใช้เงินมากมายไปกับสวัสดิการเพื่อคนไร้บ้าน แต่ ‘บ้านกระดาษลัง’ ของคนเหล่านี้ยังคงมีอยู่มากมาย บ้างก็อยู่ไปไม่เดือดร้อนใคร แต่มีไม่น้อยที่ก่อปัญหาให้กับสังคม เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น รัฐบาลเลยอัดฉีดงบก้อนโตลงไป หวังผลให้คนไร้บ้านก้าวออกจากชีวิตข้างถนนได้

หันมามองบ้านพักสำหรับชาวไร้บ้าน ที่ไหนๆ ก็ไม่ต่างจาก Spring Garden ในอดีต ซึ่งเป็นอาคารมืดมน มีมุมอับมากมาย แถมแบบแปลนวกวนยังกับเขาวงกต สภาพแวดล้อมทึบทึมชวนให้ผู้พักอาศัยยิ่งหดหู่หนัก การปรับสภาพความเป็นอยู่ให้คนไร้บ้านมีสุขภาวะที่ดีขึ้น น่าจะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีกำลังใจกลับสู่สังคม

ปีเตอร์ บาร์เบอร์ (Peter Barber) สถาปนิกผู้รีโนเวท Spring Garden วางแปลนให้ห้องพักทุกห้องหันหน้าเข้าพื้นที่ส่วนกลางซึ่งเอาไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน  และด้านหลังห้องพักทุกห้องหันหน้าหาสวน ทำให้ทุกคนมีสวนให้หย่อนใจไปจนถึงลงมือทำสวนซะเลย อาคารโมเดิร์นที่สว่างสวยงามทำงานคู่กับกิจกรรมอบรมทักษะอาชีพ ทำให้บ้านพักแห่งนี้ไม่มีปัญหาเดิมๆ อย่างเรื่องยาเสพติดหรือความรุนแรงต่างๆ ที่นี่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องล็อกประตูออฟฟิศ และอยู่ร่วมกับคนไร้บ้านได้อย่างเป็นมิตร ดีไซน์มีส่วนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปได้อย่างน่าทึ่ง การรีดีไซน์จึงขยายไปยังบ้านพักแห่งอื่นๆ อีกด้วย

ท่ามกลางเสียงแดกดันจากคนในสังคมบางส่วนที่เห็นว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย แต่บาร์เบอร์เห็นว่าคนบางกลุ่มมีบางอย่างที่เป็นข้อจำกัดในชีวิต ดีไซน์ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และสมกับความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่การให้ที่เกินเหตุ แต่เป็นความจำเป็นของสังคมเลยทีเดียว

อ้างอิง:  The Guardian, St.Mungo’s