ถึงเวลาหันหลังให้โฟม KU-Green ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากมันสำปะหลัง


ถึงแม้ว่าวัสดุอย่างพลาสติกหรือโฟมจะหาง่าย ราคาถูก สะดวกต่อการผลิต แถมอายุการใช้งานก็ยาวนานเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์หลายๆ ประเภท แต่คุณสมบัติที่มีอายุยืนยาวนี่แหละกลับกลายสภาพเป็นขยะกองมหึมาที่ยากต่อการทำลาย อีกทั้งยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้ร้อนขึ้นในทางอ้อม

และแม้ว่าพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลจะมีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาขยะพลาสติกและโฟมได้ดีขึ้น แต่การใช้อย่างต่อเนื่องก็ไม่เป็นผลดีต่อโลกแสนสวยใบนี้มากนัก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศ.ดร.งามทิพย์ ภู่วโรดม ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบ KU-Green โปรดักได้คิดค้นหาหนทางในการนำวัสดุธรรมชาติ เช่น แป้ง โปรตีน หรือเซลลูโลส มาเป็นวัสดุตั้งต้นในการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จากการวิจัยค้นพบว่า แป้งมันสำปะหลังนี่แหละเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อการนำมาใช้กับอาหาร อีกทั้งยังหาได้ง่ายและราคาถูก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ KU-Green ได้รับรางวัล High Potential in EU Market ในงานนิทรรศการ Brussels Eureka 2000 : The 49th World Exhibition of Innovation Research and New Technology เมื่อปี 2543

ในเบื้องต้นการพัฒนา KU-Green โปรดักมุ่งเน้นไปที่การใช้แบบครั้งเดียว เช่น จาน ถ้วย แก้วกาแฟ กล่องอาหาร หลักๆ ก็เพื่อนำมาใช้แทนผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกและโฟม ที่สำคัญคุณสมบัติพิเศษของ KU-Green ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าพลาสติกหรือโฟมเลย เพราะสามารถใส่อาหารได้ในอุณหภูมิเย็นยะเยือกที่ติดลบ 18 องศาไปจนถึงความร้อนที่ 80 องศาเซลเซียส สามารถใส่อาหารอุ่นให้ร้อนในไมโครเวฟได้ ที่สำคัญเรายังสามารถนำ KU-Green โปรดักส์ที่ใช้งานแล้วไปผสมเป็นอาหารสำหรับสัตว์ หรือจะใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพได้อีก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ทดแทนวัสดุโฟมสำหรับทำกระทงได้อีกด้วย และนี่คือวัสดุรักษ์โลกครบด้านหลากประโยชน์สัญชาติไทยที่น่าผลักดันให้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการบริโภคในบ้านเรา

 

อ้างอิง : KU-Green, neutron.rmutphysics, Core77