อาคารเรียนพระสงฆ์รักษ์โลก เปลี่ยนวัตรปฏิบัติเป็นแนวรักษ์สิ่งแวดล้อม

พุทธศาสนสถาปัตยกรรมที่เราพบโดยทั่วไปในไทยจะพูดถึงการจำลองจักรวาล นำสิ่งที่เชื่อว่าดีที่สุดมาถวายพลีแก่ศาสนา การรับรู้ที่ทำให้เชื่อได้ว่าของดีที่สุดได้ถูกถวายจึงเป็นการประดับประดาอย่างรุ่มรวยตามแต่วัฒนธรรมนั้นๆ จะพึงทำได้ แต่หากศึกษาและลงลึกไปยังแก่นของหลายศาสนาควรจะเริ่มต้นที่ความเข้าใจด้วยการละวางหรือไม่ คำตอบเหล่านี้ไม่สามารถถูกตอบมาเป็นรูปธรรม ด้วยยากต่อการสื่อสารจากสถาปนิกถึงผู้ใช้ที่นิยมการรับรู้อย่างง่ายๆ ต่อสถาปัตยกรรม

แต่อีกหนึ่งคำตอบจากอาคารเรียนพระสงฆ์ วัดเขาพุทธโคดม รางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อมอาคารประจำปี 2551 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยสถาปนิก สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ เสนอการคลี่คลายแนวทางสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ที่ไร้การประดับประดาสิ่งฟุ่มเฟือย แต่มุ่งเข้าสู่สาระของ ‘ธรรมะ’ ซึ่งก็คือธรรมชาติที่ใช้วิธีปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ให้คล้อยตามธรรมชาติมากกว่าแข็งขืนธรรมชาติจากแนวคิด ‘สิ้นเปลืองน้อยที่สุด’ ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ใช้วัสดุสำเร็จรูปประกอบเข้าด้วยกันทั้งโครงสร้าง ผนัง หลังคา เพื่อความสะดวกที่จะสามารถสร้างและทำลายอาคารอย่างการเกิดมลภาวะน้อยสุด รบกวนที่ตั้งน้อยสุด การออกแบบพื้นที่เริ่มจากทำความเข้าใจวงจรชีวิต และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ เพื่อออกแบบโปรแกรมให้ล้อไปกับธรรมชาติ ออกแบบให้ใช้เรียนในกลางวันซึ่งมีแสงสว่างมากให้ลดการใช้พลังงาน มีการเลือกใช้หลังคาโปร่งแสงเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามา ออกแบบให้แต่ละชิ้นส่วนมีการเปิดโล่งสร้างการไหลเวียนของอากาศช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และโปรแกรมการใช้สอยในเวลากลางคืนจะรองรับกิจกรรมปฏิบัติและจำวัตร

จากแนวคิดเรียบง่ายที่ให้ปรับพฤติกรรมมนุษย์เข้ากับธรรมชาติตามแบบตะวันออก มากกว่าฝืนธรรมชาติจึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมในวันข้างหน้า หากลองตริตรองดูที่เราต้องมานั่งรณรงค์ให้รักษ์โลกก็เพราะพฤติกรรมบริโภคเกินพอดีของมนุษย์ หากลองออกแบบให้เราปรับเปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีขึ้น ทำไมเราจะไม่ทำกันล่ะ?

[youtube url=”http://youtu.be/GPavhaPABDo” width=”600″ height=”338″]

 

อ้างอิง: isuriya, วารสารอาษา 08:51 I 09:51