‘Cooper Point House’ บ้านห่มดิน ลดอุณหภูมิบ้าน ไม่หวั่นร้อนหนาว

ตั้งแต่ประเด็นเรื่องโลกร้อนได้กลายเป็นกระแส ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง มีความพยายามจากทุกภาคทุกส่วนที่จะค้นคิดหาวิธีเพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในวงการสถาปัตยกรรม ที่มีการคิดและพัฒนาวัสดุและเทคนิคการก่อสร้างรูปแบบใหม่ และมีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อหาวิธีที่จะลดการเบียดเบียนธรรมชาติให้มากที่สุด แต่สิ่งที่หลายคนกลับมองข้าม คือวัสดุที่อยู่ใกล้ชิดเราเพียงแค่ใต้ฝ่าเท้า และมีอยู่ทุกที่ นั่นคือ ‘ดิน’

ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ซึ่งมีความเป็นฉนวนอย่างดี จากการศึกษาพบว่า ลึกลงไปจากผิวดินเพียง 1- 2 เมตร ก็มีอุณหภูมิต่างจากภายนอกมาก ในเวลากลางวัน ใต้ดินจะเย็นกว่าผิวดินหลายองศา ในขณะที่เวลากลางคืน ใต้ดินก็จะอุ่นกว่าผิวดินเช่นกัน จากคุณสมบัติเช่นนี้ ทำให้ Mickey Muennig สถาปนิกอาวุโสชาวอเมริกัน ได้ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างของอุณหภูมิดังกล่าว สร้างบ้านที่ฝังตัวอยู่ใต้ผืนดินบริเวณ Cooper Point ตัวบ้านมีขนาดไม่ใหญ่มาก ประกอบด้วย 3 ห้องนอน โครงสร้างเป็นผนังคอนกรีต ลักษณะเด่นของบ้านหลังนี้คือ มีหลังคาทรงโค้งที่ปกคลุมด้วยผืนดิน

ข้อดีของบ้านที่ถูกห่มด้วยผืนดินหลังนี้ นอกจากช่วยรักษาอุณหภูมิภายใน ไม่ให้ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป ตามภูมิอากาศรอบนอก เพื่อลดการใช้พลังงานในการปรับอากาศแล้ว ดินยังเป็นฉนวนป้องกันไฟชั้นดี และการที่บ้านฝังตัวอยู่ใต้ดิน มีส่วนช่วยป้องกันอันตรายจากพายุ ที่สร้างความเสียหายให้อย่างมาก ภายในบ้านยังออกแบบให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด ช่องเปิดกระจกบริเวณหลังคา ช่วยให้แสงสว่างสามารถเข้ามาภายในตัวบ้านได้อย่างทั่วถึงในเวลากลางวัน แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยสร้างพลังงานไฟฟ้า ทำให้ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากภายนอกลงได้มาก นับเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาด รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

อ้างอิง: designboom