โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว หลังแผ่นดินไหวโดย Vin Varavarn Architects

10

หากนับว่าสถาปัตยกรรมใดคือสิ่งจำเป็นหรือไม่จำเป็น เกณฑ์วัดที่ทำให้สรุปถึงความจำเป็นได้คือการตอบสนองต่อความจำเป็นของมนุษย์อย่างพื้นฐานที่สุดคือปัจจัย 4 อย่างบ้าน โรงพยาบาล แต่ในความจำเป็นที่มากขึ้นสำหรับการติดอาวุธทางปัญญาให้กับมนุษย์ ซึ่งจะผลิตให้เหล่าผู้คนเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อประเทศชาติและโลก การสร้างทุนมนุษย์เหล่านี้มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญเป็นพื้นฐานอีกอย่างคือโรงเรียน

แต่ถ้าโรงเรียนที่จำเป็นต่อผู้คนไม่สามารถสร้างหน้าที่สำคัญได้อย่างเต็มที่ อาจจะเป็นดินแดนห่างไกล หรือถูกภัยพิบัติจนไม่สามารถรองรับกิจกรรมการเรียนรู้ได้คงเป็นเรื่องน่าเศร้านัก อย่างเช่นกรณีการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในภาคเหนือเมื่อปี 2557 ที่ทาง Design for Disaster (D4D) ได้ก่อร่างสร้างโครงการที่ขับให้เกิดโครงการ ‘ห้องเรียนพอดี พอดี’ ด้วยการสร้างอาคารเรียนเร่งด่วนให้กับโรงเรียน 9 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีความร่วมมือของสถาปนิก 9 ท่านที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาช่วยออกแบบอาคารเรียน โดยโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายแห่งนี้ ปัจจุบันได้เปิดใช้งานแล้ว

Vin Varavarn Architects คือสถาปนิกที่รับหน้าที่ออกแบบโรงเรียนรองรับโจทย์ที่นอกจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้แล้ว ยังต้องสร้างชีวิตชีวาให้กับนักเรียนที่เข้ามาเรียนด้วย โดยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวเขาที่เสียโรงเรียนไปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จากนั้นยังมีกลุ่มสถาปนิกอาสาเข้ามาช่วยออกแบบโรงเรียนใหม่ให้ด้วยเงื่อนไขตามแต่ละโจทย์ของแต่ละที่ตั้ง แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการออกแบบสถาปัตยกรรมในโครงการนี้คือ จะสร้างโรงเรียนให้กลายเป็นที่พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ได้อย่างไร

การตีโจทย์สถาปนิกได้ถูกคลี่คลายออกมาเป็นโรงเรียนที่ขับให้เด็กถูกกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านองค์ทางสถาปัตยกรรมต่างๆ โรงเรียนต้องการแสงที่มีความเข้มพอดีไม่สลัวจนขาดการกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา ทำให้สถาปนิกใช้หลังคาโปร่งแสงเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้ามายังภายในห้องเรียนและลดความสว่างที่มากเกินไปด้วยการเติมหลังคาโลหะรีดลอนบางส่วนและดัดแปลงแคร่ไม้ไผ่ปูทับอีกชั้นเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ ไผ่ที่พบได้มากมายในภาคเหนือได้ถูกดัดแปลงไปอยู่ในหลายรายละเอียดเช่นพื้นระเบียงที่ออกแบบให้ระบายน้ำฝนลงพื้นได้รวดเร็วลดการขังน้ำฝน และยังดัดแปลงให้เป็นชั้นวางกระถางต้นไม้เพื่อเพิ่มบรรยากาศที่ดีให้กับนักเรียนที่เข้ามาใช้พื้นที่สำหรับการเรียนรู้

หากมีคำถามว่าสถาปนิกช่วยเปลี่ยนโลกได้อย่างไร โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาวคงเป็นอีกคำตอบที่แม้จะเล็ก แต่หวังให้ยั่งยืนในใจ

IMG_0922-PanoIMG_0745-PanoIMG_1029-Pano IMG_1031-Pano IMG_1031-Pano-day IMG_1291DRAWING_LOCATION PLAN

DRAWING_FLOOR PLANDRAWING_SECTION DETAIL 1DRAWING_SECTION DETAIL 2

DRAWING_ASSEMBLING

อ้างอิง: VinVaravarnArchitectsLimitedDesign for DisastersSpaceshift Studio