ปัญหาของเมืองใหญ่ที่ขาดแผนการพัฒนาที่ดี เรามักจะได้พบกับพื้นที่รกร้าง ขาดการใช้ประโยชน์ ในขณะที่เมืองใหญ่ในโลกปัจจุบันพบปัญหาเดียวกันคือพื้นที่สาธารณะที่จะเป็นทั้งปอด ทั้งแหล่งพักผ่อนคลายโรคคนเมืองมีน้อยลงทุกที อย่างในกรุงเทพมหานครของเรามีรายงานถึงพื้นที่สีเขียวต่อประชากรที่มีพื้นที่สาธารณะมีกันแค่ 3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
มองปัญหาเดียวกันแต่มองไปที่ยังไกลบ้านเรา อย่างอนุสาวรีย์คอนกรีตร้างที่เกิดจากพื้นที่ร้างใต้รางรถไฟฟ้า ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู การจัดพื้นที่เหลือทิ้งนี้ไว้เปล่าๆ ไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว ไม่ว่าการเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่ออาชญากรรม คนในเมืองขาดพื้นที่บำรุงวิญญาณจนสุขภาพจิตถดถอย แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้น นักออกแบบจึงต้องเข้าไปแก้ไข โจทย์นี้จึงมาถึง Basurama กลุ่มสถาปนิกจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน ที่นำเสนอการแก้ปัญหาการนำกลับมาใช้ใหม่ของพื้นที่ร้างนี้ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวเมือง ทั้งจากศิลปินในท้องถิ่นและชาวเมืองในชุมชนละแวกนั้น เพื่อเติมวิญญาณใหม่ให้พื้นที่รกร้างของเมือง นอกจากจะมีการปรับพื้นที่ใหม่แล้ว สิ่งที่ช่วยเสริมให้พื้นที่ใหม่นี้มีชีวิตขึ้นก็คือเหล่าอุปกรณ์เครื่องเล่นทั้งหลายที่หน้าตาเก๋ไม่เบา แต่เมื่อมองไปถึงรายละเอียดมันคือของเหลือใช้หรือขยะเมืองนี่เอง ซึ่งประกอบไปด้วยอะไหล่เก่า ยางรถยนต์ใช้แล้ว ที่ถูกปรุงและดัดแปลงจนกลายเป็นชิงช้า หรือสารพัดเครื่องเล่นให้กับชาวชุมชนเมืองทุกวัย
การใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกับคนเมืองไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ จนต้องรอกันไปมาเป็นโครงการในฝันก็ได้เช่นกัน มันอยู่ที่ความคิดบวก ทั้งนักออกแบบและชาวเมืองร่วมกันมากกว่าใช้เงินแก้ปัญหาเพียงย่างเดียว
อ้างอิง: Basurama