สถาปัตยกรรมมีชีวิต เพิ่มความเขียวให้บ้านด้วยผนังคอนกรีตสุดกรีน

หากจะเปรียบอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ เป็นสิ่งมีชีวิต ‘ผนัง’ ของอาคารนั้นๆ ย่อมเปรียบได้กับ ‘ผิวหนัง’ ของสิ่งมีชีวิต ที่ทำหน้าที่ช่วยห่อหุ้มและปกป้องร่างกายจากภัยอันตรายที่อยู่โดยรอบ โดยที่ผ่านมา นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผิวหนังอาคารรูปแบบใหม่ๆ ได้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ที่กระแสด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นที่สนใจในวงกว้าง การสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์เพียงแค่ ‘การใช้งาน’ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย และนั่น ได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ Harmonia 57 ถือกำเนิดขึ้นมาสู่สายตาชาวโลก

Harmonia 57 เป็นโครงการบ้านพักอาศัยขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณถนน Harmonia ทางแถบตะวันตกของเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล จุดเด่นที่เห็นได้อย่างชัดเจนของบ้านหลังนี้คือ ผนังคอนกรีตมีชีวิต (Organic Concrete) ที่ออกแบบให้เหมือนกับมีรูขุมขนที่สามารถปลูกพืชขนาดเล็กได้ ทำให้ผนังของทั้งอาคารคล้ายกับผิวหนังของสิ่งมีชีวิต ดูแปลกตาจากอาคารสมัยใหม่ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป

นอกจากระบบผนังอาคารแล้ว Triptyque บริษัทผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ ยังได้ออกแบบให้ Harmonia 57 มีระบบน้ำที่สัมพันธ์กับระบบผนัง โดยเริ่มจากการกักเก็บน้ำฝนจากดาดฟ้า จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการกรองด้วยวิธีธรรมชาติ ปั๊มขึ้นไปเก็บไว้บนถังเก็บน้ำที่หลังคา ก่อนที่จะนำน้ำที่เก็บนั้นมาใช้รดพืชพรรณที่ปลูกไว้ ด้วยระบบท่อที่เดินตามผนังในลักษณะเปลือยงานระบบนำมาแสดงไว้ภายนอกอย่างไม่มีปิดบังหรือซ่อนพราง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้ และที่สำคัญการวางงานระบบท่อน้ำแบบ ‘กลับในออกนอก’ เช่นนี้ ยังช่วยให้การดูแลรักษาและซ่อมบำรุง สามารถทำได้ง่ายกว่าอาคารโดยทั่วไปที่นิยมซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ด้านใน

โครงสร้างอาคารทั้งหมด เป็นโครงสร้างคอนกรีต ผสมกับเหล็กบางส่วน ผนังด้านหน้าของอาคารออกแบบให้เป็นแผงระแนงไม้ไผ่ ที่สามารถเปิด-ปิด เพื่อช่วยกรองแดดไม่ให้เข้าสู่ตัวอาคารโดยตรง เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว อาคารหลังนี้ถือเป็นอาคารที่มีการออกแบบงานระบบมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ระบบผนัง (ผิวหนัง) ระบบท่อ (เส้นเลือด) และระบบโครงสร้าง (กระดูก) ทำให้ Harmonia 57 หลังนี้ มีความใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก สมกับที่ผู้ออกแบบตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า ต้องการให้อาคารหลังนี้เป็นเสมือน ‘สถาปัตยกรรมที่มีชีวิต’

อ้างอิง : archdaily